เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 6. ปาสราสิสูตร

เป็นผู้มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเศร้าหมอง
เป็นธรรมดาด้วยตนแล้ว จึงแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเศร้าหมอง อันเป็นแดน
เกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม ได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเศร้าหมอง อันเป็นแดน
เกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมแล้ว
อนึ่ง ภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้นได้เกิดญาณทัสสนะขึ้นมาว่า 'วิมุตติของพวกเรา
ไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ภพใหม่ไม่มีอีกต่อไป'
[287] ภิกษุทั้งหลาย กามคุณ 5 ประการนี้
กามคุณ 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. รูปที่จะพึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
2. เสียงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ
3. กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก ฯลฯ
4. รสที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น ฯลฯ
5. โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
กามคุณมี 5 ประการนี้
สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งใฝ่ฝัน ลุ่มหลง ติดพัน ไม่เห็นโทษ ไม่มี
ปัญญาเครื่องสลัดออก บริโภคกามคุณ 5 ประการนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า 'สมณ-
พราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ถึงความเสื่อม ความพินาศ ถูกมารใจบาปทำอะไร ๆ ได้
ตามใจชอบ'

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :314 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 6. ปาสราสิสูตร

เปรียบเทียบนักบวชกับฝูงเนื้อ

ภิกษุทั้งหลาย เนื้อป่าที่ติดบ่วง นอนทับบ่วง พึงทราบว่า 'เป็นสัตว์ที่ถึง
ความเสื่อม ความพินาศ ถูกนายพรานเนื้อทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบ' เมื่อนาย
พรานเนื้อเดินเข้ามา ก็หนีไปไม่ได้ตามปรารถนา แม้ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์
พวกใดพวกหนึ่งก็ฉันนั้นเหมือนกัน ใฝ่ฝัน ลุ่มหลง ติดพัน ไม่เห็นโทษ ไม่มี
ปัญญาเครื่องสลัดออก ย่อมบริโภคกามคุณ 5 ประการนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า
'สมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ถึงความเสื่อม ความพินาศ ถูกมารใจบาปทำอะไร ๆ
ได้ตามใจชอบ' แต่สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งไม่ใฝ่ฝัน ไม่ลุ่มหลง ไม่
ติดพัน เห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก ย่อมบริโภคกามคุณ 5 ประการนี้
บัณฑิตพึงทราบว่า 'สมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ไม่ถึงความเสื่อม ความพินาศ
ไม่ถูกมารใจบาปทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบ'
เนื้อป่าที่ไม่ติดบ่วง นอนทับบ่วง พึงทราบว่า 'เป็นสัตว์ไม่ถึงความเสื่อม
ไม่ถึงความพินาศ ไม่ถูกนายพรานเนื้อทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบ' เมื่อนายพราน
เนื้อเดินเข้ามา ก็หนีไปได้ตามปรารถนา แม้ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์พวกใด
พวกหนึ่งก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ใฝ่ฝัน ไม่ลุ่มหลง ไม่ติดพัน เห็นโทษ มีปัญญา
เครื่องสลัดออก1 ย่อมบริโภคกามคุณ 5 ประการนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า 'สมณ-
พราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ไม่ถึงความเสื่อม ไม่ถึงความพินาศ ไม่ถูกมารใจบาป
ทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบ'
อนึ่ง เนื้อป่าเมื่อเที่ยวไปตามป่าใหญ่ ย่อมวางใจเดิน ยืน นั่ง นอน ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะไม่ได้พบกับนายพรานเนื้อ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน
สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและ
สุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เราเรียกภิกษุนี้ว่า 'ผู้ทำให้มารตาบอด คือทำลายดวงตาของ
มารอย่างไม่มีร่องรอย ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น'

เชิงอรรถ :
1 ปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ในที่นี้หมายถึงปัจจเวกขณญาณ (ม.มู.อ. 2/287/101)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :315 }