เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 6. ปาสราสิสูตร

เราจะไปเมืองหลวงของชาวกาสี ประกาศธรรมจักร
ตีกลองอมตธรรมไปในโลกอันมีความมืดมน'1
อุปกาชีวกกล่าวว่า 'อาวุโส ท่านสมควรเป็นพระอนันตชินะตามที่ท่านประกาศ'
เราจึงกล่าวตอบเป็นคาถาว่า
'ชนเหล่าใดได้ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว
ชนเหล่านั้นย่อมเป็นพระชินะเช่นเรา
อุปกะ เราชนะความชั่วได้แล้ว
เพราะฉะนั้น เราจึงชื่อว่าพระชินะ'
เมื่อเรากล่าวอย่างนั้นแล้ว อุปกาชีวกจึงกล่าวว่า 'อาวุโส ควรจะเป็นอย่างนั้น'
โคลงศีรษะแล้วเดินสวนทางหลีกไป

ทรงแสดงธรรมโปรดภิกษุปัญจวัคคีย์

[286] ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น เราจาริกไปโดยลำดับ ถึงป่าอิสิปตน-
มฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี ได้เข้าไปหาภิกษุปัญจวัคคีย์ถึงที่อยู่ ภิกษุปัญจวัคคีย์
เห็นเราเดินมาแต่ไกล จึงนัดหมายกันและกันว่า 'อาวุโส พระสมณโคดมนี้ เป็น
ผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก กำลังเสด็จมา
พวกเราไม่พึงกราบไหว้ ไม่พึงลุกรับ ไม่พึงรับบาตรและจีวรของพระองค์ แต่จะจัด
อาสนะไว้ ถ้าพระองค์ปรารถนาก็จักประทับนั่ง'
เราเข้าไปหาภิกษุปัญจวัคคีย์ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ลืมข้อนัดหมายของตน บางพวก
ต้อนรับเราแล้วรับบาตรและจีวร บางพวกปูลาดอาสนะ บางพวกจัดหาน้ำล้างเท้า
แต่ภิกษุปัญจวัคคีย์เรียกเราโดยออกนามและใช้คำว่า 'อาวุโส'2

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) 4/11/17, ม.ม. (แปล) 13/341/412, อภิ.ก. 37/405/245-246
2 อาวุโส แปลว่า ผู้มีอายุ เดิมใช้เป็นคำเรียกกันเป็นสามัญ คือ ภิกษุผู้แก่กว่าเรียกภิกษุผู้อ่อนกว่าหรือ
ภิกษุผู้อ่อนกว่าเรียกภิกษุผู้แก่กว่าก็ได้ (ที.ม.อ. 2/216/199)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :311 }