เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 6. ปาสราสิสูตร

ในกออุบล ในกอปทุม หรือในกอบุณฑริก ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก
บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ใต้น้ำ และมีน้ำหล่อเลี้ยงไว้
ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่เสมอน้ำ
ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่พ้นน้ำ
ไม่แตะน้ำ แม้ฉันใด
เราเมื่อตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ได้เห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตาน้อย
มีธุลีในดวงตามาก มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม
สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก บางพวกเห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งน่ากลัว
บางพวกมักเห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งไม่น่ากลัว1 ฉันนั้น
ลำดับนั้น เราจึงได้กล่าวคาถาตอบสหัมบดีพรหมว่า
'พรหม สัตว์เหล่าใดมีโสตประสาท
จงปล่อยศรัทธามาเถิด
เรามิได้ปิดประตูอมตธรรมสำหรับสัตว์เหล่านั้น
แต่เรารู้สึกว่าเป็นการยากลำบาก
จึงไม่คิดจะแสดงธรรมอันประณีต
ที่เราคล่องแคล่ว ในหมู่มนุษย์'
ครั้งนั้น สหัมบดีพรหมทราบว่า 'พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานโอกาสเพื่อจะ
แสดงธรรมแล้ว' จึงถวายอภิวาทเรา กระทำประทักษิณแล้วได้หายไปจากที่นั้น

เชิงอรรถ :
1 นอกจากบัวจมอยู่ในน้ำ บัวอยู่เสมอน้ำ บัวพ้นน้ำ 3 เหล่านี้ อรรถกถาได้กล่าวถึงบัวเหล่าที่ 4 คือ บัว
ที่มีโรคยังไม่พ้นน้ำเป็นอาหารของปลาและเต่า ซึ่งมิได้ยกขึ้นสู่บาลี แล้วแบ่งบุคคลเป็น 4 เหล่า (ตามที่
ปรากฏ ใน องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/133/202, อภิ.ปุ. (แปล) 36/5/142,148-151/187) คือ (1) อุคฆฏิตัญญู
(2) วิปจิตัญญู (3) เนยยะ (4) ปทปรมะ แล้วเปรียบอุคฆฏิตัญญู เป็นเหมือนบัวพ้นน้ำที่พอต้องแสง
อาทิตย์แล้วก็บานในวันนี้ เปรียบวิปจิตัญญู เป็นเหมือนบัวอยู่เสมอน้ำที่จะบานในวันรุ่งขึ้น เปรียบเนยยะ
เป็นเหมือนบัวจมอยู่ในน้ำที่จะขึ้นมาบานในวันที่ 3 ส่วนปทปรมะ เปรียบเหมือนบัวที่มีโรคยังไม่พ้นน้ำ ไม่
มีโอกาสขึ้นมาบาน เป็นอาหารของปลาและเต่า
พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุอันเป็นเหมือนกออุบลเป็นต้น ได้ทรงเห็นโดยอาการทั้งปวงว่า
หมู่ประชาผู้มีธุลีในดวงตาเบาบางมีประมาณเท่านี้ หมู่ประชาผู้มีธุลีในดวงตามากมีประมาณเท่านี้ และใน
หมู่ประชาทั้ง 2 นั้น อุคฆฏิตัญญูบุคคลมีประมาณเท่านี้ (ที.ม.อ. 69/64-65, สารตฺถ.ฏีกา 3/9/192-
193)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :308 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 6. ปาสราสิสูตร

ทรงรำพึงถึงผู้ควรรับธรรมเทศนา

[284] ภิกษุทั้งหลาย เราดำริว่า 'เราควรแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ
ใครจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน' แล้วดำริต่อไปว่า 'อาฬารดาบส กาลามโคตรนี้ เป็น
บัณฑิต ฉลาดเฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีในดวงตาน้อยมานาน ทางที่ดี เราควร
แสดงธรรมแก่อาฬารดาบส กาลามโคตรก่อน เธอจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน'
ครั้งนั้น เทวดาองค์หนึ่งเข้ามาหาเราแล้วกล่าวว่า 'ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อาฬารดาบส กาลามโคตรทำกาละได้ 7 วันแล้ว'
อนึ่ง เราก็ได้เกิดญาณทัสสนะขึ้นว่า 'อาฬารดาบส กาลามโคตร ทำกาละได้ 7
วันแล้ว' จึงดำริว่า 'อาฬารดาบส กาลามโคตร เป็นผู้มีความเสื่อมจากคุณอันยิ่ง
ใหญ่1แล้วหนอ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ ก็จะพึงรู้ได้ฉับพลัน'
เราจึงดำริว่า 'เราควรแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้
ฉับพลัน' จึงดำริต่อไปว่า 'อุทกดาบส รามบุตรนี้ เป็นบัณฑิต ฉลาดเฉียบแหลม
มีปัญญา มีธุลีในดวงตาน้อยมานาน ทางที่ดี เราควรแสดงธรรมแก่อุทกดาบส
รามบุตรก่อน เธอจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน'
ลำดับนั้น เทวดาองค์หนึ่งเข้ามาหาเราแล้วกล่าวว่า 'ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อุทกดาบส รามบุตร ได้ทำกาละเมื่อวานนี้'
อนึ่ง เราก็ได้เกิดญาณทัสสนะขึ้นว่า 'อุทกดาบส รามบุตร ได้ทำกาละ
เมื่อวานนี้' จึงดำริว่า 'อุทกดาบส รามบุตร เป็นผู้มีความเสื่อมจากคุณอันยิ่งใหญ่
แล้วหนอ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ ก็จะพึงรู้ได้ฉับพลัน'
เราจึงดำริว่า 'เราควรแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน'
จึงดำริว่า 'ภิกษุปัญจวัคคีย์มีอุปการะแก่เรามาก ที่ได้เฝ้าปรนนิบัติเราผู้มุ่งบำเพ็ญ

เชิงอรรถ :
1 มีความเสื่อมจากคุณอันยิ่งใหญ่ หมายถึงมีความเสื่อมมาก เพราะเสื่อมจากมรรคและผลที่จะพึงบรรลุ
เพราะเกิดในอักขณะ คือ อาฬารดาบส ตายไปเกิดในอากิญจัญญายตนภพ ส่วนอุทกดาบส ตายไปเกิดใน
เนวสัญญานาสัญญายตนภพ (ม.มู.อ. 2/284/94, วิ.อ. 3/10/16)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :309 }