เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 6. ปาสราสิสูตร

พระองค์ผู้หมดความเศร้าโศกแล้ว
โปรดเสด็จขึ้นสู่ปราสาทคือธรรม
จักได้เห็นหมู่ชนผู้ตกอยู่ในความเศร้าโศก
และถูกชาติชราครอบงำได้ชัดเจน ฉันนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร
ผู้ชนะสงคราม1 ผู้นำหมู่2 ผู้ไม่มีหนี้3
ขอพระองค์โปรดลุกขึ้นเสด็จจาริกไปในโลก
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดแสดงธรรม
เพราะสัตว์ทั้งหลายจักเป็นผู้รู้ทั่วถึงธรรม'

เวไนยสัตว์เปรียบด้วยดอกบัว4

[283] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น เรารับคำทูลอาราธนาของพรหม และเพราะ
ความมีกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย จึงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ5 เมื่อตรวจดูโลกด้วยพุทธ-
จักษุ ได้เห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตา6น้อย มีธุลีในดวงตามาก มีอินทรีย์
แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก
บางพวกเห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งน่ากลัว บางพวกเห็นปรโลกและโทษว่าเป็น
สิ่งไม่น่ากลัว

เชิงอรรถ :
1 ผู้ชนะสงคราม หมายถึงชนะเทวบุตรมาร มัจจุมาร และกิเลสมาร (ม.มู.อ. 2/282/87)
2 ผู้นำหมู่ หมายถึงสามารถนำสัตว์ข้ามที่กันดารคือชาติ(ความเกิด) และสามารถเป็นผู้นำของหมู่สัตว์คือ
เวไนยสัตว์ (ม.มู.อ. 2/282/87)
3 ผู้ไม่มีหนี้ หมายถึงไม่มีหนี้คือกามฉันทะ (ม.มู.อ. 2/282/87)
4 ดูเทียบ ที.ม. (แปล) 10/69/39-40, วิ.ม. (แปล) 4/9/14, องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/133/202, อภิ.ก.
37/856/490
5 พุทธจักษุ หมายถึง
(1) อินทริยปโรปริยัตติญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งและความหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย คือ รู้
ว่าสัตว์นั้น ๆ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แค่ไหน เพียงใด มีกิเลสมาก กิเลสน้อย มีความ
พร้อมที่จะตรัสรู้หรือไม่
(2) อาสยานุสยญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้อัธยาศัย ความมุ่งหมาย สภาพจิตที่นอนเนื่องอยู่ (ม.มู.อ.
2/283/87, วิ.อ. 3/9/15) และดู ขุ.ป. 31/111-115/124-128)
6 ดวงตา ในที่นี้หมายถึงปัญญาจักษุ (ม.มู.อ. 2/283/87, วิ.อ. 3/9/15)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :307 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 6. ปาสราสิสูตร

ในกออุบล ในกอปทุม หรือในกอบุณฑริก ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก
บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ใต้น้ำ และมีน้ำหล่อเลี้ยงไว้
ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่เสมอน้ำ
ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่พ้นน้ำ
ไม่แตะน้ำ แม้ฉันใด
เราเมื่อตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ได้เห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตาน้อย
มีธุลีในดวงตามาก มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม
สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก บางพวกเห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งน่ากลัว
บางพวกมักเห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งไม่น่ากลัว1 ฉันนั้น
ลำดับนั้น เราจึงได้กล่าวคาถาตอบสหัมบดีพรหมว่า
'พรหม สัตว์เหล่าใดมีโสตประสาท
จงปล่อยศรัทธามาเถิด
เรามิได้ปิดประตูอมตธรรมสำหรับสัตว์เหล่านั้น
แต่เรารู้สึกว่าเป็นการยากลำบาก
จึงไม่คิดจะแสดงธรรมอันประณีต
ที่เราคล่องแคล่ว ในหมู่มนุษย์'
ครั้งนั้น สหัมบดีพรหมทราบว่า 'พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานโอกาสเพื่อจะ
แสดงธรรมแล้ว' จึงถวายอภิวาทเรา กระทำประทักษิณแล้วได้หายไปจากที่นั้น

เชิงอรรถ :
1 นอกจากบัวจมอยู่ในน้ำ บัวอยู่เสมอน้ำ บัวพ้นน้ำ 3 เหล่านี้ อรรถกถาได้กล่าวถึงบัวเหล่าที่ 4 คือ บัว
ที่มีโรคยังไม่พ้นน้ำเป็นอาหารของปลาและเต่า ซึ่งมิได้ยกขึ้นสู่บาลี แล้วแบ่งบุคคลเป็น 4 เหล่า (ตามที่
ปรากฏ ใน องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/133/202, อภิ.ปุ. (แปล) 36/5/142,148-151/187) คือ (1) อุคฆฏิตัญญู
(2) วิปจิตัญญู (3) เนยยะ (4) ปทปรมะ แล้วเปรียบอุคฆฏิตัญญู เป็นเหมือนบัวพ้นน้ำที่พอต้องแสง
อาทิตย์แล้วก็บานในวันนี้ เปรียบวิปจิตัญญู เป็นเหมือนบัวอยู่เสมอน้ำที่จะบานในวันรุ่งขึ้น เปรียบเนยยะ
เป็นเหมือนบัวจมอยู่ในน้ำที่จะขึ้นมาบานในวันที่ 3 ส่วนปทปรมะ เปรียบเหมือนบัวที่มีโรคยังไม่พ้นน้ำ ไม่
มีโอกาสขึ้นมาบาน เป็นอาหารของปลาและเต่า
พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุอันเป็นเหมือนกออุบลเป็นต้น ได้ทรงเห็นโดยอาการทั้งปวงว่า
หมู่ประชาผู้มีธุลีในดวงตาเบาบางมีประมาณเท่านี้ หมู่ประชาผู้มีธุลีในดวงตามากมีประมาณเท่านี้ และใน
หมู่ประชาทั้ง 2 นั้น อุคฆฏิตัญญูบุคคลมีประมาณเท่านี้ (ที.ม.อ. 69/64-65, สารตฺถ.ฏีกา 3/9/192-
193)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :308 }