เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 6. ปาสราสิสูตร

อยู่โดยรอบ เราจึงคิดว่า 'ภูมิประเทศเป็นที่น่ารื่นรมย์ มีราวป่าน่าเพลิดเพลินใจ
มีแม่น้ำไหลรินไม่ขาดสาย มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจรคามอยู่โดยรอบ
เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ปรารถนาจะบำเพ็ญเพียร' เราจึงนั่ง ณ ที่
นั้นด้วยคิดว่า 'ที่นี้เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร'
[280] ภิกษุทั้งหลาย เราเองมีความเกิดเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษใน
สิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา แล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเกิด ไม่มี
ธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ
เราเองมีความแก่เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา
แล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความแก่ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ
เราเองมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา
แล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเจ็บไข้ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษม
จากโยคะ
เราเองมีความตายเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา
แล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความตาย ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษม
จากโยคะ
เราเองมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเศร้าโศก
เป็นธรรมดาแล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีธรรมอื่น
ยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ
เราเองมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความ
เศร้าหมองเป็นธรรมดา แล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเศร้าหมอง
ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ
ทั้งญาณทัสสนะได้เกิดแก่เราว่า 'วิมุตติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย
บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก'

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :304 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 6. ปาสราสิสูตร

ทรงมีความขวนขวายน้อย

[281] ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความดำริว่า 'ธรรม1ที่เราได้บรรลุแล้วนี้
ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรกะ ละเอียด
บัณฑิต(เท่านั้น)จึงจะรู้ได้ ส่วนหมู่ประชาผู้รื่นรมย์ด้วยอาลัย2 ยินดีในอาลัย
เพลิดเพลินในอาลัย ฐานะที่หมู่สัตว์ผู้รื่นรมย์ด้วยอาลัย ยินดีในอาลัย เพลิดเพลิน
ในอาลัยนี้ย่อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าวคือหลักอิทัปปัจจยตา หลักปฏิจจสมุปบาท
ถึงแม้ฐานะอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยากนัก กล่าวคือความสงบแห่งสังขารทั้งปวง
ความสลัดทิ้งอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ นิโรธ นิพพาน ก็ถ้าเราจะพึง
แสดงธรรม และผู้อื่นจะไม่เข้าใจซึ้งต่อเรา ข้อนั้นก็จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่า
แก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา'
อนึ่งเล่า คาถาอันน่าอัศจรรย์เหล่านี้ที่ไม่เคยสดับมาก่อน ได้ปรากฏแก่เราว่า
'บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรมที่เราบรรลุด้วยความลำบาก
เพราะธรรมนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกราคะและโทสะครอบงำจะรู้ได้ง่าย
แต่เป็นสิ่งพาทวนกระแส3 ละเอียด ลึกซึ้ง รู้เห็นได้ยาก ประณีต
ผู้กำหนัดด้วยราคะ ถูกกองโมหะหุ้มห่อไว้ จักรู้เห็นไม่ได้'

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) 4/7/11, ม.ม. (แปล) 13/337/407
2 อาลัย คือกามคุณ 5 ที่สัตว์พัวพัน ยินดี เพลิดเพลิน (วิ.อ. 3/7/13) เป็นชื่อเรียกกิเลส 2 อย่าง คือ
กามคุณ 5 และตัณหาวิจริต 108 (ม.มู.อ. 2/281/82, สารตฺถ.ฏีกา 3/7/184) ดู อภิ.วิ. (แปล)
35/973-976/622-633
3 พาทวนกระแส ในที่นี้หมายถึง อนิจฺจํ(ไม่เที่ยง) ทุกฺขํ(เป็นทุกข์) อนตฺตา(เป็นอนัตตา) อสุภํ(ไม่งาม)
อันทวนกระแสแห่งธรรมมีความเที่ยง เป็นต้น ในพระวินัยปิฎกหมายถึงพาเข้าถึงนิพพาน (ม.มู.อ.
2/281/84, วิ.อ. 3/7/14)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :305 }