เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 5. นิวาปสูตร

แดนที่มารตามไปไม่ถึง

[271] ที่ซึ่งมารและบริวารของมารไปไม่ถึง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้วบรรลุปฐมฌาน
ที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เราเรียกภิกษุนี้ว่า 'ได้ทำมารให้
ตาบอด1 คือ ทำลายดวงตาของมารเสียอย่างไม่มีร่องรอย ถึงการที่มารใจบาป
มองไม่เห็น'
อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานมีความ
ผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข
อันเกิดจากสมาธิอยู่ เราเรียกภิกษุนี้ว่า 'ฯลฯ ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น'
อีกประการหนึ่ง เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า 'ผู้มีอุเบกขา
มีสติ อยู่เป็นสุข' เราเรียกภิกษุนี้ว่า 'ฯลฯ ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น'
อีกประการหนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไป
ก่อนแล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
เราเรียกภิกษุนี้ว่า 'ได้ทำมารให้ตาบอด คือ ทำลายดวงตาของมารเสียอย่างไม่มี
ร่องรอย ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น'
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตต-
สัญญาโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า
'อากาศหาที่สุดมิได้' เราเรียกภิกษุนี้ว่า 'ได้ทำมารให้ตาบอด คือ ทำลายดวงตา
ของมารเสียอย่างไม่มีร่องรอย ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น'

เชิงอรรถ :
1 ทำมารให้ตาบอด หมายถึงภิกษุนั้นมิได้ทำลายนัยน์ตาของมาร แต่จิตของภิกษุผู้เข้าถึงฌานที่เป็นบาทของ
วิปัสสนาอาศัยอารมณ์นี้เป็นไป (เกิดดับ) เหตุนั้น มารจึงไม่สามารถมองเห็น ทำลายดวงตาของมารเสีย
อย่างไม่มีร่องรอย หมายถึงทำลายโดยที่นัยน์ตาของมารไม่มีทาง หมดหนทาง ไม่มีที่พึ่ง ปราศจาก
อารมณ์โดยปริยายนี้ ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น หมายถึงโดยปริยายนั่นเอง มารจึงไม่สามารถมอง
เห็นร่างคือญาณของภิกษุผู้เข้าฌานซึ่งเป็นบาทของวิปัสสนานั้นด้วยมังสจักษุของตนได้ (ม.มู.อ. 2/271/71)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :293 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 6. ปาสราสิสูตร

อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า 'วิญญาณหาที่สุดมิได้' เราเรียกภิกษุนี้ว่า
'ฯลฯ ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น'
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บรรลุอากิญจัญญายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า 'ไม่มีอะไร' เราเรียกภิกษุนี้ว่า 'ฯลฯ
ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น'
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ เราเรียกภิกษุนี้ว่า 'ฯลฯ ถึงการที่มารใจ
บาปมองไม่เห็น'
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดย
ประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ ก็เพราะเห็นด้วยปัญญา เธอ
ย่อมมีอาสวะสิ้นไป เราเรียกภิกษุนี้ว่า 'ได้ทำมารให้ตาบอด คือ ทำลายดวงตา
ของมารเสียอย่างไม่มีร่องรอย ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น และข้ามพ้นตัณหา
อันเป็นเครื่องข้องอยู่ในโลกได้แล้ว"
พระผู้มีพระภาคตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

นิวาปสูตรที่ 5 จบ

6. ปาสราสิสูตร
ว่าด้วยกองบ่วงดักสัตว์

[272] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครอง
อันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ภิกษุเป็นจำนวนมากเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่แล้วได้กล่าวกับ
ท่านพระอานนท์ว่า "ท่านพระอานนท์ เป็นเวลานานมากแล้วที่พวกกระผมไม่ได้
สดับธรรมีกถาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ขอโอกาสให้พวกกระผมได้สดับ
ธรรมีกถาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเถิด"

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :294 }