เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 3. ธัมมทายาทสูตร

ความไม่สนใจศึกษาวิเวก

[31] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน ท่านพระสารีบุตร ได้เรียก
ภิกษุทั้งหลายในวิหารนั้นมากล่าวว่า "ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย" ภิกษุเหล่านั้น
รับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวว่า "ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุ
เท่าไรหนอ เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก1 สาวกทั้งหลายไม่สนใจศึกษา
วิเวก ด้วยเหตุเท่าไรหนอ เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวกทั้งหลาย
สนใจศึกษาวิเวก"
ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า "ท่านผู้มีอายุ พวกกระผมมาจากที่ไกลเพื่อจะทราบ
เนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของท่านพระสารีบุตร พวกกระผมขอโอกาส ขอท่าน
พระสารีบุตรได้โปรดแสดงเนื้อความแห่งภาษิตนั้นเถิด เพื่อภิกษุทั้งหลายเมื่อได้ฟัง
แล้วจะทรงจำไว้ได้"
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า "ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงฟัง
จงใส่ใจให้ดี กระผมจักกล่าว"
ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวเรื่องนี้ว่า "ท่านผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ด้วยเหตุเท่าไรหนอ เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวก
ทั้งหลายไม่สนใจศึกษาวิเวก เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวก
ทั้งหลายในพระธรรมวินัยนี้สนใจศึกษาวิเวก ไม่ละธรรมทั้งหลายที่พระศาสดาตรัสว่า
ควรละ เป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน2 เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม3 ทอดธุระ4

เชิงอรรถ :
1 วิเวก(ความสงัด) ในที่นี้หมายถึงวิเวก 3 ประการ คือ (1) กายวิเวก สงัดกาย (2) จิตตวิเวก สงัดจิต
(3) อุปธิวิเวก สงัดกิเลส (ม.มู.อ. 1/31/109)
2 ย่อหย่อน หมายถึงยึดถือปฏิบัติตามคำสั่งสอนหย่อนยาน (ม.มู.อ. 1/31/110, องฺ.ทุก.อ. 2/45/53)
3 โวกกมนธรรม ในที่นี้หมายถึงนิวรณ์ 5 ประการ คือ (1) กามฉันทะ(ความพอใจในกาม) (2) พยาบาท
(ความคิดร้าย) (3) ถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม) (4) อุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ)
(5) วิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) (ม.มู.อ. 1/31/110, องฺ.ทุก.อ. 2/45/53)
4 ทอดธุระ ในที่นี้หมายถึงไม่บำเพ็ญอุปธิวิเวกให้บริบูรณ์, อนึ่ง หมายถึงทอดทิ้งหน้าที่ในวิเวก 3 ประการ
คือ กายวิเวก จิตตวิเวก และอุปธิวิเวก (ม.มู.อ. 1/31/110, องฺ.ทุก.อ. 2/45/53)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :29 }