เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 4. รถวินีตสูตร

15. คำว่า นาค นั้น เป็นชื่อของภิกษุผู้เป็นขีณาสพ คำนั้นมีอธิบายว่า
'นาคจงดำรงอยู่เถิด เธออย่าเบียดเบียนนาคเลย เธอจงทำความ
นอบน้อมนาค"
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระกุมารกัสสปะมีใจยินดีชื่นชม
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

วัมมิกสูตรที่ 3 จบ

4. รถวินีตสูตร
ว่าด้วยราชรถ 7 ผลัด

ภิกษุยกย่องพระปุณณมันตานีบุตร

[252] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน1
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ภิกษุผู้มีถิ่นกำเนิดเดียวกันจำนวนมาก จำพรรษาในท้องถิ่น
(ของตน)แล้ว ได้มาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งอยู่ ณ
ที่สมควร พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า
"ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปไหนหนอที่ภิกษุเพื่อนพรหมจารีในท้องถิ่นยกย่อง
อย่างนี้ว่า
'ตนเองเป็นผู้มักน้อย2 และกล่าวอัปปิจฉกถา(เรื่องความมักน้อย)แก่ภิกษุทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
1 กลันทกนิวาปสถาน หมายถึงเป็นสถานที่สำหรับพระราชทานเหยื่อแก่กระแต (ม.มู.อ. 2/252/41-42)
2 เป็นผู้มักน้อย หมายถึงความมักน้อย 4 ประการ คือ (1) เป็นผู้มักน้อยในปัจจัย 4 (2) เป็นผู้มักน้อยใน
ธุดงค์ ได้แก่ ไม่ประสงค์ให้ผู้อื่นรู้ความที่ตนสมาทานธุดงค์ (3) เป็นผู้มักน้อยในการเล่าเรียน ได้แก่
ไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นรู้ความที่ตนเป็นพหูสูต (4) เป็นผู้มักน้อยในการบรรลุธรรม ได้แก่ ไม่ปรารถนาให้
ผู้อื่นรู้ความที่ตนเป็นพระโสดาบัน เป็นต้น (ม.มู.อ. 2/152/47-8)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :273 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 4. รถวินีตสูตร

ตนเองเป็นผู้สันโดษ1 และกล่าวสันตุฏฐิกถา(เรื่องความสันโดษ)แก่ภิกษุทั้งหลาย
ตนเองเป็นผู้สงัด2 และกล่าวปวิเวกกถา(เรื่องความสงัด)แก่ภิกษุทั้งหลาย
ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี3 และกล่าวอสังสัคคกถา(เรื่องความไม่คลุกคลี)แก่ภิกษุ
ทั้งหลาย
ตนเองเป็นผู้ปรารภความเพียร4 และกล่าววิริยารัมภกถา(เรื่องการปรารภความ
เพียร)แก่ภิกษุทั้งหลาย
ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล5 และกล่าวสีลสัมปทากถา(เรื่องความสมบูรณ์
ด้วยศีล)แก่ภิกษุทั้งหลาย
ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ6 และกล่าวสมาธิสัมปทากถา(เรื่องความสมบูรณ์
ด้วยสมาธิ)แก่ภิกษุทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
1 เป็นผู้สันโดษ หมายถึงความสันโดษ 3 ประการ คือ (1) ยถาลาภสันโดษ เป็นผู้สันโดษตามมีตามได้
ทั้งดีและไม่ดี (2) ยถาพลสันโดษ เป็นผู้สันโดษตามกำลังทั้งกำลังของตนและของทายก (3) ยถาสารุปป-
สันโดษ เป็นผู้สันโดษตามสมควรแก่สมณภาวะ
สันโดษ 3 ประการ ในปัจจัย 4 คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร จึงเป็น
สันโดษ 12 (ม.มู.อ. 2/252/48-50)
2 เป็นผู้สงัด หมายถึงมีวิเวก 3 ประการ คือ (1) กายวิเวก สงัดกาย ได้แก่ อยู่ผู้เดียวทุกอิริยาบถ
(2) จิตตวิเวก ได้แก่ ได้สมาบัติ 8 (3) อุปธิวิเวก ได้แก่ บรรลุนิพพาน (ม.มู.อ. 2/252/50)
3 เป็นผู้ไม่คลุกคลี หมายถึงไม่คลุกคลีด้วยการคลุกคลี 5 ประการ คือ (1) การคลุกคลีด้วยการฟัง
(2) การคลุกคลีด้วยการเห็น (3) การคลุกคลีด้วยการสนทนาปราศรัย (4) การคลุกคลีด้วยการอยู่ร่วมกัน
(5) การคลุกคลีทางกาย (ม.มู.อ. 2/252/51)
4 เป็นผู้ปรารภความเพียร หมายถึงการทำความเพียรทางกายและทางจิตให้บริบูรณ์ (ม.มู.อ. 2/252/54)
5 เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล คำว่า ศีล ในที่นี้หมายถึงปาริสุทธิศีล 4 ประการ [คือ (1) ศีลคือการสังวรในพระ
ปาติโมกข์ (2) ศีลคือการสำรวมอินทรีย์ 6 (3) ศีลคือการพิจารณาใช้สอยปัจจัย 4 (4) ศีลคือการเลี้ยง
ชีวิตด้วยความบริสุทธิ์] (ม.มู.อ. 2/252/54)
6 เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ คำว่า สมาธิ ในที่นี้หมายถึงสมาบัติ 8 คือ รูปฌาน 4 และอรูปฌาน 4
อันเป็นบาทแห่งวิปัสสนา (ม.มู.อ. 2/252/54)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :274 }