เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 3. วัมมิกสูตร

12. คำว่า เต่า นั้น เป็นชื่อแห่งอุปาทานขันธ์1 5 ประการ คือ

รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป)
เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือเวทนา)
สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสัญญา)
สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสังขาร)
วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)

คำนั้นมีอธิบายว่า 'สุเมธ เธอจงใช้ศัสตรานำเต่าขึ้นมา คือ จงละ
อุปาทานขันธ์ 5 ประการ จงขุดขึ้นมา'
13. คำว่า เขียงหั่นเนื้อ นั้น เป็นชื่อแห่งกามคุณ 5 ประการ คือ
รูปที่จะพึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
เสียงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ
กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก ฯลฯ
รสที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น ฯลฯ
โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
คำนั้นมีอธิบายว่า 'สุเมธ เธอจงใช้ศัสตรายกเขียงหั่นเนื้อขึ้นมา คือ
จงละกามคุณ 5 ประการ จงขุดขึ้นมา'
14. คำว่า ชิ้นเนื้อ นั้น เป็นชื่อแห่งนันทิราคะ(ความกำหนัดด้วยอำนาจ
ความเพลิดเพลิน) คำนั้นมีอธิบายว่า 'สุเมธ เธอจงใช้ศัสตราหยิบ
ชิ้นเนื้อขึ้นมา คือ จงละนันทิราคะ จงขุดขึ้นมา'

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 1 ข้อ 91 (สัมมาทิฏฐิสูตร) หน้า 86 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :272 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 4. รถวินีตสูตร

15. คำว่า นาค นั้น เป็นชื่อของภิกษุผู้เป็นขีณาสพ คำนั้นมีอธิบายว่า
'นาคจงดำรงอยู่เถิด เธออย่าเบียดเบียนนาคเลย เธอจงทำความ
นอบน้อมนาค"
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระกุมารกัสสปะมีใจยินดีชื่นชม
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

วัมมิกสูตรที่ 3 จบ

4. รถวินีตสูตร
ว่าด้วยราชรถ 7 ผลัด

ภิกษุยกย่องพระปุณณมันตานีบุตร

[252] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน1
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ภิกษุผู้มีถิ่นกำเนิดเดียวกันจำนวนมาก จำพรรษาในท้องถิ่น
(ของตน)แล้ว ได้มาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งอยู่ ณ
ที่สมควร พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า
"ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปไหนหนอที่ภิกษุเพื่อนพรหมจารีในท้องถิ่นยกย่อง
อย่างนี้ว่า
'ตนเองเป็นผู้มักน้อย2 และกล่าวอัปปิจฉกถา(เรื่องความมักน้อย)แก่ภิกษุทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
1 กลันทกนิวาปสถาน หมายถึงเป็นสถานที่สำหรับพระราชทานเหยื่อแก่กระแต (ม.มู.อ. 2/252/41-42)
2 เป็นผู้มักน้อย หมายถึงความมักน้อย 4 ประการ คือ (1) เป็นผู้มักน้อยในปัจจัย 4 (2) เป็นผู้มักน้อยใน
ธุดงค์ ได้แก่ ไม่ประสงค์ให้ผู้อื่นรู้ความที่ตนสมาทานธุดงค์ (3) เป็นผู้มักน้อยในการเล่าเรียน ได้แก่
ไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นรู้ความที่ตนเป็นพหูสูต (4) เป็นผู้มักน้อยในการบรรลุธรรม ได้แก่ ไม่ปรารถนาให้
ผู้อื่นรู้ความที่ตนเป็นพระโสดาบัน เป็นต้น (ม.มู.อ. 2/152/47-8)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :273 }