เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 2. อลคัททูปมสูตร

ภิกษุเป็นผู้ไม่มีบานประตู เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 ประการ1 ได้เด็ดขาดแล้ว
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุเป็นผู้ไม่มีบานประตู เป็นอย่างนี้
ภิกษุเป็นผู้ประเสริฐ ลดธงคือมานะลงแล้ว ปลงภาระได้แล้ว ปราศจาก
สังโยชน์แล้ว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละอัสมิมานะ(การถือตัว) ได้เด็ดขาดแล้ว ตัดราก
ถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุเป็นผู้ประเสริฐ ลดธงคือมานะลงแล้ว ปลงภาระได้แล้ว
ปราศจากสังโยชน์แล้ว เป็นอย่างนี้
การไม่ยึดถือ
[246] ภิกษุทั้งหลาย เทวดาทั้งหลายพร้อมทั้งพระอินทร์ พรหม และ
มารเสาะหาภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้ ย่อมไม่พบว่า 'วิญญาณของตถาคต2
อาศัยสิ่งนี้' ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเรากล่าวว่า 'ในปัจจุบัน ใคร ๆ จะไม่พึง
พบตถาคต' สมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวตู่เราผู้กล่าวอย่างนี้ ผู้บอกอย่างนี้ด้วย
คำเท็จซึ่งเลื่อนลอย ไม่มีจริง ไม่เป็นจริงว่า 'พระสมณโคดมเป็นผู้กำจัด ย่อมบัญญัติ

เชิงอรรถ :
1 โอรัมภาคิยสังโยชน์ หมายถึงสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 ประการ [คือ (1) สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นอัตตา
(2) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย (3) สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลและวัตร (4) กามราคะ ความติดใจ
ในกามคุณ (5) ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ อันเป็นเหตุให้เกิดในกามภพ (ม.มู.อ. 2/245/22)
2 คำว่า ตถาคต ในข้อนี้มีความหมาย 2 นัย คือ นัยที่ 1 ตถาคต ในคำว่า 'วิญญาณของตถาคตอาศัยสิ่งนี้'
หมายถึงสัตว์ผู้สิ้นอาสวะ ทรงมุ่งใช้เพื่อตรัสเรียกแทนพระขีณาสพผู้ไม่มีปฏิสนธิปรินิพพานแล้ว นัยที่ 2 ตถาคต
ในคำว่า 'ถ้าบุคคลเหล่าอื่นด่าบริภาษ ... กระทบกระทั่งตถาคต ...' หมายถึงพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้า ผู้สิ้นอาสวะ ทรงมุ่งใช้เพื่อตรัสเรียกแทนพระองค์เอง แต่เมื่อว่าโดยสภาวธรรมแล้ว ทั้ง 2 นัย
นั้นมีความหมายเดียวกัน คือสภาวะที่สิ้นอาสวะ และปรินิพพาน จิตของผู้สิ้นอาสวะปรินิพพานแล้ว
เทวดา มาร พรหม ไม่สามารถจะค้นพบได้ ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า 'อาศัยอารมณ์อะไรเป็นไป' (ม.มู.ฏีกา
2/246/120)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :263 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 2. อลคัททูปมสูตร

ความขาดสูญ ความพินาศ ความไม่มีภพของสัตว์ผู้มีอยู่' ถึงเราจะกล่าวหรือ
ไม่กล่าวก็ตาม สมณพราหมณ์เหล่านั้นก็ยังกล่าวตู่เราด้วยคำเท็จซึ่งเลื่อนลอย
ไม่มีจริง ไม่เป็นจริงว่า 'พระสมณโคดมเป็นผู้กำจัด ย่อมบัญญัติความขาดสูญ
ความพินาศ ความไม่มีภพของสัตว์ผู้มีอยู่' ทั้งในกาลก่อนและในกาลบัดนี้ เรา
บัญญัติทุกข์และความดับทุกข์ ถ้าบุคคลเหล่าอื่นด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด
เบียดเบียน และกระทบ กระทั่งตถาคตในเรื่องการประกาศสัจจะ 4 ประการนั้น
ตถาคตก็ไม่มีความอาฆาต ไม่เสียใจ ไม่มีจิตคิดร้ายเพราะการด่าเป็นต้นนั้น
ถ้าบุคคลเหล่าอื่นสักการะ เคารพ นับถือ และบูชาตถาคตในเรื่องการประกาศ
สัจจะ 4 ประการนั้น ตถาคตก็ไม่มีความยินดี ไม่เสียใจ ไม่มีความลำพองใจ
เพราะสักการะเป็นต้นนั้น
ถ้าบุคคลเหล่าอื่นสักการะ เคารพ นับถือ และบูชาตถาคตในเรื่องการประกาศ
สัจจะ 4 ประการนั้น ตถาคตมีความดำริอย่างนี้เพราะสักการะเป็นต้นนั้นว่า 'บุคคล
กระทำสักการะเห็นปานนี้ในขันธปัญจก(ขันธ์ 5) ที่เรากำหนดรู้แล้วในกาลก่อน'
เพราะเหตุนั้น ถ้าบุคคลเหล่าอื่นจะพึงด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียน
และกระทบกระทั่งเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายก็ไม่ควรทำความอาฆาต ไม่ควรทำ
ความเสียใจ ไม่ควรทำจิตคิดร้ายเพราะการด่าเป็นต้นนั้น
เพราะเหตุนั้น ถ้าบุคคลเหล่าอื่นจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ และบูชาเธอ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายก็ไม่ควรทำความยินดี ไม่ควรทำความดีใจ ไม่ควรทำความ
ลำพองใจเพราะสักการะเป็นต้นนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลเหล่าอื่นจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ และบูชาเธอ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรคิดอย่างนี้เพราะสักการะเป็นต้นนั้นว่า 'บุคคลกระทำ
สักการะเห็นปานนี้ในขันธปัญจกที่เราทั้งหลายกำหนดรู้แล้วในกาลก่อน'
[247] ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น สิ่งใดไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายจงละสิ่งนั้น สิ่งนั้นซึ่งเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข
สิ้นกาลนาน อะไรเล่าไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย รูปไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายจงละรูปนั้น รูปนั้นซึ่งเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อ
ความสุขสิ้นกาลนาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :264 }