เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 2. อลคัททูปมสูตร

"เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง"
"ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า"
"สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข"
"เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า"
"สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะพิจารณา
เห็นสิ่งนั้นว่า 'นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา"
"ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า"
"เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ...
วิญญาณเที่ยง หรือไม่เที่ยง"
"ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า"
"สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข"
"เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า"
"สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะพิจารณา
เห็นสิ่งนั้นว่า 'นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา"
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า"
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น รูปอย่างใดอย่าง
หนึ่งทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด
เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม เธอทั้งหลายควรเห็นรูปทั้งปวงตามความเป็นจริง
ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า 'นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา
ของเรา' เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สังขารเหล่าใด
เหล่าหนึ่ง ... วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน
ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม
เธอทั้งหลายควรเห็นวิญญาณทั้งปวงตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า
'นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา'

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :261 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 2. อลคัททูปมสูตร

การละสังโยชน์

[245] ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อม
เบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อม
คลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตจึงหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า
'หลุดพ้นแล้ว' รู้ชัดว่า 'ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว1 ทำกิจที่ควรทำ
เสร็จแล้ว2 ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป'3 ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ถอนลิ่ม
ได้แล้วบ้าง เป็นผู้รื้อเครื่องแวดล้อมได้แล้วบ้าง เป็นผู้ถอนเสาระเนียดได้แล้วบ้าง
เป็นผู้ไม่มีบานประตูบ้าง เป็นผู้ประเสริฐ ลดธงคือมานะลงแล้ว ปลงภาระได้แล้ว
ปราศจากสังโยชน์(กิเลสเครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพ)แล้วบ้าง
ภิกษุเป็นผู้ถอนลิ่มได้แล้ว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละอวิชชาได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้น
ตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
ภิกษุเป็นผู้ถอนลิ่มได้แล้ว เป็นอย่างนี้
ภิกษุเป็นผู้รื้อเครื่องแวดล้อมได้แล้ว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละสังขารคือชาติ4 ซึ่งก่อภพใหม่ได้เด็ดขาดแล้ว
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุเป็นผู้รื้อเครื่องแวดล้อมได้แล้ว เป็นอย่างนี้
ภิกษุเป็นผู้ถอนเสาระเนียดได้แล้ว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละตัณหาได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือน
ต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
ภิกษุเป็นผู้ถอนเสาระเนียดได้แล้ว เป็นอย่างนี้

เชิงอรรถ :
1-3 ดูเชิงอรรถที่ 1-3 ข้อ 54 (ภยเภรวสูตร) หน้า 43 ในเล่มนี้
4 สังขารคือชาติ หมายถึงกัมมาภิสังขาร อันเป็นปัจจัยแห่งขันธ์ที่เกิดในภพใหม่ เพราะเกิดและท่องเที่ยวไป
ในชาติต่าง ๆ (ม.มู.อ. 2/245/22)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :262 }