เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 2. อลคัททูปมสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน แสดงธรรมมีอุปมาด้วยแพเพื่อ
ต้องการสลัดออก ไม่ใช่เพื่อต้องการจะยึดถือแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายรู้ทั่วถึง
ธรรมซึ่งเปรียบดุจแพที่เราแสดงแล้ว ควรละแม้ธรรมทั้งหลาย1 ไม่จำเป็นต้อง
กล่าวถึงอธรรมเลย

ความเห็นของปุถุชนและอริยสาวก

[241] ภิกษุทั้งหลาย ทิฏฐิฏฐาน2 6 ประการนี้
ทิฏฐิฏฐาน 6 ประการ อะไรบ้าง
คือ ปุถุชน3ในโลกนี้ผู้ยังไม่ได้สดับ ไม่ได้พบพระอริยะ4ทั้งหลาย ไม่ฉลาดใน
ธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่พบสัตบุรุษทั้งหลาย
ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ

1. จึงพิจารณาเห็นรูปว่า 'นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา5'
2. จึงพิจารณาเห็นเวทนาว่า 'นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตา
ของเรา'
3. จึงพิจารณาเห็นสัญญาว่า 'นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตา
ของเรา'
4. จึงพิจารณาเห็นสังขารทั้งหลายว่า 'นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็น
อัตตาของเรา'
5. จึงพิจารณาเห็นรูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ฟังแล้ว อารมณ์ที่ทราบแล้ว
ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งแล้ว ถึงแล้ว แสวงหาแล้ว ใคร่ครวญแล้วด้วย
ใจว่า 'นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา'

เชิงอรรถ :
1 ธรรมทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงสมถะและวิปัสสนา (ม.มู.อ. 2/240/16)
2 ทิฏฐิฏฐาน เป็นชื่อของทิฏฐิ เพราะเป็นเหตุแห่งสักกายทิฏฐิที่ยิ่งกว่าทิฏฐิเกิดขึ้นก่อน และเป็นเหตุแห่ง
สัสสตทิฏฐิบ้าง เป็นชื่อของอารมณ์ คือ ขันธ์ 5 และรูปารมณ์เป็นต้นบ้าง เป็นชื่อของปัจจัย คือ อวิชชา
ผัสสะ สัญญา เป็นต้นบ้าง (ม.มู.อ. 2/241/16, ม.มู.ฏีกา 2/241/110)
3-4 ดูเชิงอรรถที่ 1-2 ข้อ 2 (มูลปริยายสูตร) หน้า 2 ในเล่มนี้
5 การเห็นว่า "นั่นของเรา" เป็นอาการของตัณหา, การเห็นว่า "เราเป็นนั่น" เป็นอาการของมานะ, การเห็นว่า
"นั่นเป็นอัตตาของเรา" เป็นอาการของทิฏฐิ (ม.มู.อ. 2/141/17)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :256 }