เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 2. อลคัททูปมสูตร

ธรรมอุปมาด้วยแพ

[240] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมซึ่งอุปมาด้วยแพแก่เธอทั้งหลาย
เพื่อการสลัดออก ไม่ใช่เพื่อการยึดถือแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
เราจักกล่าว" ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า
"ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้เดินทางไกล พบห้วงน้ำใหญ่ ฝั่งนี้น่า
ระแวง มีภัยเฉพาะหน้า ฝั่งโน้นเกษม ไม่มีภัยเฉพาะหน้า เรือหรือสะพานสำหรับ
ข้ามเพื่อจะไปฝั่งโน้นไม่มี เขาจะพึงคิดอย่างนี้ว่า 'ห้วงน้ำนี้ใหญ่นัก ฝั่งนี้น่าระแวง
มีภัยเฉพาะหน้า ฝั่งโน้นเกษม ไม่มีภัยเฉพาะหน้า เรือหรือสะพานสำหรับข้ามไป
ฝั่งโน้นไม่มี ทางที่ดี เราควรรวบรวมหญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้มาผูกเป็นแพ
แล้วอาศัยแพนั้นใช้มือและเท้าพุ้ยน้ำก็จะข้ามฝั่งได้โดยสวัสดี' ต่อมา เขารวบรวม
หญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้มาผูกเป็นแพ แล้วอาศัยแพนั้นใช้มือและเท้าพุ้ยน้ำข้าม
ฝั่งได้โดยสวัสดี เขาข้ามฝั่งได้แล้ว จะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า 'แพนี้มีประโยชน์แก่
เรามากนัก เราอาศัยแพนี้ใช้มือและเท้าพุ้ยน้ำข้ามฝั่งได้โดยสวัสดี ทางที่ดี เรา
ควรยกแพนี้ขึ้นเทินศีรษะ หรือยกขึ้นบ่าแบกไปตามความปรารถนา' เธอทั้งหลาย
เข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นผู้กระทำอย่างนี้ จะชื่อว่าทำหน้าที่ในแพนั้น
ถูกต้องหรือไม่"
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า "ข้อนั้นชื่อว่าทำไม่ถูกต้อง พระพุทธเจ้าข้า"
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นทำอย่างไร จึงจะชื่อว่าทำ
หน้าที่ในแพนั้นถูกต้อง ในข้อนี้ บุรุษนั้นข้ามฝั่งแล้วจะพึงคิดอย่างนี้ว่า 'แพนี้มี
ประโยชน์แก่เรามากนัก เราอาศัยแพนี้ใช้มือและเท้าพุ้ยน้ำข้ามฝั่งได้โดยสวัสดี ทางที่ดี
เราควรยกแพนี้ขึ้นวางไว้บนบก หรือให้ลอยอยู่ในน้ำ' แล้วไปตามความปรารถนา
บุรุษนั้นผู้กระทำอย่างนี้ จึงจะชื่อว่าทำหน้าที่ในแพนั้นถูกต้อง แม้ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :255 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 2. อลคัททูปมสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน แสดงธรรมมีอุปมาด้วยแพเพื่อ
ต้องการสลัดออก ไม่ใช่เพื่อต้องการจะยึดถือแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายรู้ทั่วถึง
ธรรมซึ่งเปรียบดุจแพที่เราแสดงแล้ว ควรละแม้ธรรมทั้งหลาย1 ไม่จำเป็นต้อง
กล่าวถึงอธรรมเลย

ความเห็นของปุถุชนและอริยสาวก

[241] ภิกษุทั้งหลาย ทิฏฐิฏฐาน2 6 ประการนี้
ทิฏฐิฏฐาน 6 ประการ อะไรบ้าง
คือ ปุถุชน3ในโลกนี้ผู้ยังไม่ได้สดับ ไม่ได้พบพระอริยะ4ทั้งหลาย ไม่ฉลาดใน
ธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่พบสัตบุรุษทั้งหลาย
ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ

1. จึงพิจารณาเห็นรูปว่า 'นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา5'
2. จึงพิจารณาเห็นเวทนาว่า 'นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตา
ของเรา'
3. จึงพิจารณาเห็นสัญญาว่า 'นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตา
ของเรา'
4. จึงพิจารณาเห็นสังขารทั้งหลายว่า 'นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็น
อัตตาของเรา'
5. จึงพิจารณาเห็นรูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ฟังแล้ว อารมณ์ที่ทราบแล้ว
ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งแล้ว ถึงแล้ว แสวงหาแล้ว ใคร่ครวญแล้วด้วย
ใจว่า 'นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา'

เชิงอรรถ :
1 ธรรมทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงสมถะและวิปัสสนา (ม.มู.อ. 2/240/16)
2 ทิฏฐิฏฐาน เป็นชื่อของทิฏฐิ เพราะเป็นเหตุแห่งสักกายทิฏฐิที่ยิ่งกว่าทิฏฐิเกิดขึ้นก่อน และเป็นเหตุแห่ง
สัสสตทิฏฐิบ้าง เป็นชื่อของอารมณ์ คือ ขันธ์ 5 และรูปารมณ์เป็นต้นบ้าง เป็นชื่อของปัจจัย คือ อวิชชา
ผัสสะ สัญญา เป็นต้นบ้าง (ม.มู.อ. 2/241/16, ม.มู.ฏีกา 2/241/110)
3-4 ดูเชิงอรรถที่ 1-2 ข้อ 2 (มูลปริยายสูตร) หน้า 2 ในเล่มนี้
5 การเห็นว่า "นั่นของเรา" เป็นอาการของตัณหา, การเห็นว่า "เราเป็นนั่น" เป็นอาการของมานะ, การเห็นว่า
"นั่นเป็นอัตตาของเรา" เป็นอาการของทิฏฐิ (ม.มู.อ. 2/141/17)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :256 }