เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 2. อลคัททูปมสูตร

การเล่าเรียนธรรมของโมฆบุรุษ

[238] ภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้ย่อมเล่าเรียนธรรม
คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม
และเวทัลละ1 พวกเขาเล่าเรียนธรรมนั้นแล้วไม่ไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้น
ด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้นจึงไม่ประจักษ์ชัดแก่พวกเขา ผู้ไม่ไตร่ตรองเนื้อความด้วย
ปัญญา โมฆบุรุษเหล่านั้นเล่าเรียนธรรมมุ่งจะข่มขู่ผู้อื่น และมุ่งจะเปลื้องตนจากคำ
นินทาว่าร้าย ย่อมไม่ได้รับประโยชน์แห่งธรรมนั้น เหมือนที่เหล่ากุลบุตรเล่าเรียน
ธรรมได้รับ ธรรมเหล่านั้นที่พวกเขาเรียนไม่ดี ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์
เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะพวกเขาเรียนธรรมทั้งหลายมาไม่ดี
บุรุษผู้ต้องการงูพิษ เที่ยวเสาะแสวงหางูพิษ เขาพบงูพิษตัวใหญ่จึงจับมันที่
ขนดหางหรือที่หาง งูพิษนั้นจะพึงแว้งกัดเขาที่มือ ที่แขน หรือที่อวัยวะน้อยใหญ่
แห่งใดแห่งหนึ่ง เพราะการถูกกัดนั้นเขาก็จะตาย หรือได้รับทุกข์ปางตาย

เชิงอรรถ :
1สุตตะ ได้แก่ อุภโตวิภังค์ นิทเทส ขันธกะ ปริวาร มงคลสูตร รตนสูตร นาฬกสูตร ตุวัฏฏกสูตร ในสุตตนิบาต
และพุทธวจนะอื่น ๆ ที่มีชื่อว่าสุตตะ
เคยยะ ได้แก่ พระสูตรที่มีคาถาทั้งหมด โดยเฉพาะสคาถวรรคในสังยุตตนิกาย
เวยยากรณะ ได้แก่ พระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด พระสูตรที่ไม่มีคาถา และพุทธพจน์อื่นที่ไม่
จัดเข้าในองค์ 8 ที่เหลือ
คาถา ได้แก่ ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา และคาถาล้วนในสุตตนิบาตที่ไม่มีชื่อว่าเป็นสูตร
อุทาน ได้แก่ พระสูตร 82 สูตรที่เกี่ยวด้วยคาถาที่ทรงเปล่งด้วยพระหฤทัยสหรคตด้วยโสมนัสญาณ
อิติวุตตกะ ได้แก่ พระสูตร 110 สูตร ที่ตรัสโดยนัยว่า วุตฺตมิทํ ภควตา เป็นต้น
ชาตกะ ได้แก่ ชาดก 550 เรื่อง มีอปัณณกชาดก เป็นต้น
อัพภูตธรรม ได้แก่ พระสูตรที่ว่าด้วยเรื่องอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ทั้งหมด ที่ตรัสโดยนัยว่า "ภิกษุทั้งหลาย
ข้ออัศจรรย์ไม่เคยมี 4 อย่างนี้ หาได้ในอานนท์" ดังนี้เป็นต้น
เวทัลละ ได้แก่ พระสูตรแบบถาม-ตอบ ซึ่งผู้ถามได้ทั้งความรู้ และความพอใจ เช่น จูฬเวทัลลสูตร
มหาเวทัลลสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร สักกปัญหสูตร สังขารภาชนียสูตร และมหาปุณณมสูตร (ม.มู.อ.
2/238/13)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :252 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 2. อลคัททูปมสูตร

ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะเขาจับงูพิษไม่ดี แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เล่าเรียน
ธรรมคือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูต-
ธรรม และเวทัลละ พวกเขาเล่าเรียนธรรมนั้นแล้วไม่ไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรม
เหล่านั้นด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้นจึงไม่ประจักษ์ชัดแก่พวกเขาผู้ไม่ไตร่ตรองเนื้อ
ความด้วยปัญญา โมฆบุรุษเหล่านั้นเล่าเรียนธรรม มุ่งจะข่มขู่ผู้อื่น และมุ่งจะ
เปลื้องตนจากคำนินทาว่าร้าย ย่อมไม่ได้รับประโยชน์แห่งธรรมนั้น เหมือนที่เหล่า
กุลบุตรเล่าเรียนธรรมได้รับ ธรรมเหล่านั้นที่พวกเขาเรียนไม่ดี ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่ง
มิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะพวกเขาเรียนธรรมทั้งหลายมาไม่ดี

การเล่าเรียนธรรมของกุลบุตร

[239] ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางพวกในธรรมวินัยนี้ย่อมเล่าเรียนธรรม1
คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม
และเวทัลละ พวกเขาเล่าเรียนธรรมนั้นแล้ว ย่อมไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้น
ด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้นจึงประจักษ์ชัด2แก่พวกเขาผู้ไตร่ตรองเนื้อความด้วย

เชิงอรรถ :
1 เล่าเรียนธรรม ในที่นี้หมายถึงเล่าเรียนนิตถรณปริยัติ แท้จริงปริยัติมี 3 นัย คือ (1) อลคัททูปริยัตติ
การเล่าเรียนเปรียบด้วยงูพิษ ได้แก่การเล่าเรียนมุ่งลาภสักการะด้วยคิดว่า 'เราเล่าเรียนแล้วจักได้จีวร
หรือคนอื่นจะรู้จักเราในท่ามกลางบริษัท 4' (2) นิตถรณปริยัตติ การเล่าเรียนมุ่งประโยชน์คือการออกจากวัฏฏะ
ได้แก่การเล่าเรียนด้วยตั้งใจว่า 'เราเล่าเรียนพุทธพจน์แล้วจักบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ ให้ได้สมาธิ เริ่มเจริญ
วิปัสสนาแล้ว จักอบรมมรรค จักทำผลให้แจ้ง' (3) ภัณฑาคาริกปริยัตติ การเล่าเรียนประดุจขุนคลัง ได้แก่
การเล่าเรียนของพระขีณาสพ เพราะท่านกำหนดรู้ขันธ์แล้วละกิเลสได้แล้ว อบรมมรรค ทำให้แจ้งผลแล้ว
เมื่อเล่าเรียนพุทธพจน์ เป็นผู้ทรงแบบแผน รักษาประเพณี ตามรักษาอริยวงศ์ ดังนั้นในที่นี้จึงหมายเอานัย
ที่ 2 (ม.มู.อ. 2/239/14)
2 ประจักษ์ชัด (นิชฺฌานํ ขมนฺติ) หมายถึงมาปรากฏว่า 'พระผู้มีพระภาคตรัสศีลในสูตรนี้ ตรัสสมาธิ, วิปัสสนา,
มรรค, ผล, วัฏฏะ และวิวัฏฏะไว้ในสูตรนี้ ๆ' ในอาคตสถานแห่งศีล เป็นต้น (ม.มู.อ. 2/239/15)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :253 }