เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 1. กกจูปมสูตร

"ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า"
"ข้อนั้นเพราะเหตุไร"
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำที่ลึกสุดประมาณ เขาจะ
ทำแม่น้ำคงคานั้นให้ร้อนจัด เดือดเป็นควันพุ่งด้วยคบหญ้าที่ลุกโพลงแล้วไม่ได้ง่ายเลย
บุรุษนั้นจะต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากใจเสียเปล่าเป็นแน่"
"ภิกษุทั้งหลาย วิธีพูดที่บุคคลอื่นจะใช้พูดกับเธอทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน
มีอยู่ 5 ประการนี้ คือ
1. พูดตามกาลอันสมควรหรือไม่สมควร
ฯลฯ
5. มีเมตตาจิตพูดหรือมีโทสะพูด
ฯลฯ และเราจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ เสมอด้วยแม่น้ำ เป็นมหัคคตะ ไม่มี
ขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนไปยังสัตว์โลกทุกหมู่เหล่าอันเป็นอารมณ์ของ
เมตตาจิตนั้นอยู่'
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรสำเหนียกด้วยอาการดังกล่าวมานี้

ทำใจให้อ่อนโยนเหมือนกระสอบหนังแมว

[231] ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนกระสอบหนังแมวที่ฟอกแล้ว ฟอก
สะอาดแล้ว ฟอกเรียบร้อยแล้ว อ่อนนุ่มดังปุยนุ่น ตีไม่มีเสียง ตีไม่ดัง ถ้ามีบุรุษ
ถือเอาไม้หรือกระเบื้องมาแล้วพูดอย่างนี้ว่า 'เราจักทำกระสอบหนังแมวนี้ที่ฟอกแล้ว
ฟอกสะอาดแล้ว ฟอกเรียบร้อยแล้ว อ่อนนุ่มดังปุยนุ่น ตีไม่มีเสียง ตีไม่ดัง ให้มี
เสียงดังก้องด้วยไม้หรือกระเบื้อง' เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้น
จะทำกระสอบหนังแมวนี้ที่ฟอกแล้ว ฟอกสะอาดแล้ว ฟอกเรียบร้อยแล้ว อ่อนนุ่ม
ดังปุยนุ่น ตีไม่มีเสียง ตีไม่ดัง ให้กลับมีเสียงดังก้องขึ้นด้วยไม้หรือกระเบื้องได้
หรือไม่"

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :242 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 1. กกจูปมสูตร

"ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า"
"ข้อนั้นเพราะเหตุไร"
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะกระสอบหนังแมวนี้ที่เขาฟอกแล้ว ฟอกสะอาด
แล้ว ฟอกเรียบร้อยแล้ว อ่อนนุ่มดังปุยนุ่น ตีไม่มีเสียง ตีไม่ดัง เขาจะทำกระสอบ
หนังแมวนั้นให้กลับมีเสียงดังก้องขึ้นด้วยไม้หรือกระเบื้องไม่ได้ง่ายเลย บุรุษนั้นจะ
ต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากใจเสียเปล่าเป็นแน่"
"ภิกษุทั้งหลาย วิธีพูดที่บุคคลอื่นจะใช้พูดกับพวกเธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน
มีอยู่ 5 ประการนี้ คือ

1. พูดตามกาลอันสมควรหรือไม่สมควร
2. พูดเรื่องที่เป็นจริงหรือไม่เป็นจริง
3. พูดคำที่อ่อนหวานหรือหยาบคาย
4. พูดคำที่มีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์
5. มีเมตตาจิตพูดหรือมีโทสะพูด

บุคคลอื่นเมื่อพูด จะพึงพูดตามกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะพึงพูด
เรื่องที่เป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็ตาม จะพึงพูดคำที่อ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม
จะพึงพูดคำที่มีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์ก็ตาม จะพึงมีเมตตาจิตพูดหรือมีโทสะพูด
ก็ตาม ในข้อนั้น เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า 'จิตของเราจักไม่แปรผัน
เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ และจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์อยู่อย่างผู้มี
เมตตาจิต ไม่มีโทสะ เราจักแผ่เมตตาจิตไปให้บุคคลนั้นอยู่ และเราจักแผ่เมตตาจิต
อันไพบูลย์ เสมอด้วยกระสอบหนังแมว เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่
มีความเบียดเบียนไปยังสัตว์โลกทุกหมู่เหล่าอันเป็นอารมณ์ของเมตตาจิตนั้นอยู่'
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรสำเหนียกด้วยอาการดังกล่าวมานี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :243 }