เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 2. สัพพาสวสูตร

อาสวะที่ต้องละด้วยการอดกลั้น

[24] อาสวะที่ต้องละด้วยการอดกลั้น เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้อดทนต่อความหนาว
ความร้อน ความหิว ความกระหาย เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์
เลื้อยคลาน เป็นผู้อดกลั้นต่อถ้อยคำหยาบ คำส่อเสียด เป็นผู้อดกลั้นต่อเวทนา
ทั้งหลายอันมีในร่างกาย เป็นทุกข์ กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ
พรากชีวิตได้ ซึ่งเมื่อเธอไม่อดกลั้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น
ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธออดกลั้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น
ย่อมไม่มีแก่เธอด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยการอดกลั้น

อาสวะที่ต้องละด้วยการเว้น

[25] อาสวะที่ต้องละด้วยการเว้น เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วเว้นช้างดุร้าย เว้นม้าดุร้าย
เว้นโคดุร้าย เว้นสุนัขดุร้าย เว้นงู หลัก ตอ สถานที่มีหนาม หลุม เหว บ่อน้ำครำ
บ่อโสโครก และพิจารณาโดยแยบคายแล้วเว้นสถานที่ที่ไม่ควรนั่ง สถานที่ไม่ควร
เที่ยวไป และมิตรชั่วที่เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายลงความเห็นว่าเป็นฐานะที่เป็นบาปเสีย
ซึ่งเมื่อเธอไม่เว้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น
เมื่อเธอเว้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอด้วย
อาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่าอาสวะที่ต้องละด้วยการเว้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :24 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 2. สัพพาสวสูตร

อาสวะที่ต้องละด้วยการบรรเทา

[26] อาสวะที่ต้องละด้วยการบรรเทา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วไม่รับกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ
บรรเทา ทำให้สิ้นสุด และทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป พิจารณาโดยแยบคาย
แล้วไม่รับพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ฯลฯ ไม่รับวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้น ฯลฯ ไม่รับ
บาปอกุศลธรรม1ที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด และทำให้ถึง
ความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งเมื่อเธอไม่บรรเทาอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อ
ความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอบรรเทาอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อ
ความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยการบรรเทา

อาสวะที่ต้องละด้วยการเจริญ

[27] อาสวะที่ต้องละด้วยการเจริญ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เจริญสติสัมโพชฌงค์2 ที่
อาศัยวิเวก3(ความสงัด) อาศัยวิราคะ(ความคลายกำหนัด) อาศัยนิโรธ(ความดับ)
น้อมไปในการสละ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ฯลฯ
เจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญปีติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

เชิงอรรถ :
1 บาปอกุศลธรรม หมายถึงสภาวธรรมที่เป็นอกุศล มี 6 ประการ คือ (1) ญาติวิตก ความตรึกถึง
ญาติ (2) ชนบทวิตก ความตรึกถึงบ้านตัวเอง (3) อมรวิตก ความตรึกที่มีทิฏฐิซัดส่ายไม่แน่นอน
(4) ปรานุททยตาปฏิสังยุตวิตก ความตรึกเรื่องอนุเคราะห์ผู้อื่น (5) ลาภสักการสิโลกปฏิสังยุตวิตก
ความตรึกถึงลาภสักการะและสรรเสริญ (6) อนวิญญัติปฏิสังยุตวิตก ความตรึกเรื่องเกรงผู้อื่นจะดูหมิ่น
(ม.มู.อ. 1/26/90)
2 สัมโพชฌงค์ หมายถึงธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ มี 7 ประการ คือ (1) สติ ความระลึกได้
(2) ธัมมวิจยะ ความเลือกเฟ้นธรรม (3) วิริยะ ความเพียร (4) ปีติ ความอิ่มใจ (5) ปัสสัทธิ ความสงบ
กายสงบใจ (6) สมาธิ ความมีใจตั้งมั่น (7) อุเบกขา ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามเป็นจริง
แต่ละข้อมีสัมโพชฌงค์ต่อท้ายเช่น สติสัมโพชฌงค์ (ที.ปา. 11/330/221,357/258, อภิ.วิ.(แปล)
35/468/359, ม.มู,อ. 1/27/91-92)
3 วิเวก ในที่นี้หมายถึงวิเวก 5 ประการ คือ (1) วิกขัมภนวิเวก(ความสงัดด้วยการข่มไว้) (2) ตทังควิเวก
(ความสงัดด้วยองค์นั้น ๆ) (3) สมุจเฉทวิเวก(ความสงัดด้วยการตัดขาด) (4) ปัสสัทธิวิเวก(ความสงัด
ด้วยการสงบระงับ) (5) นิสสรณวิเวก(ความสงัดด้วยการสลัดออกได้) (ม.มู.อ. 1/27/91)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :25 }