เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 1. กกจูปมสูตร

เป็นคนว่าง่าย ถึงความเป็นผู้ว่าง่าย เพราะเหตุแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร1 เราไม่เรียกว่า 'เป็นผู้ว่าง่ายเลย' ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะภิกษุนั้นเมื่อไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารนั้น
ก็จะไม่เป็นผู้ว่าง่าย ไม่ถึงความเป็นผู้ว่าง่าย แต่ภิกษุผู้สักการะ เคารพ นับถือ บูชา
นอบน้อมธรรม เป็นผู้ว่าง่าย ถึงความเป็นผู้ว่าง่าย เราเรียกว่า 'เป็นผู้ว่าง่าย'
เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า 'เราจักสักการะ เคารพ นับถือ
บูชา นอบน้อมธรรม จักเป็นผู้ว่าง่าย จักถึงความเป็นผู้ว่าง่าย'

อุบายระงับความโกรธ

[227] ภิกษุทั้งหลาย วิธีพูดที่บุคคลอื่นจะใช้พูดกับเธอทั้งหลาย 5 ประการนี้
คือ

1. พูดตามกาลอันสมควรหรือไม่สมควร
2. พูดเรื่องที่เป็นจริงหรือไม่เป็นจริง
3. พูดคำที่อ่อนหวานหรือหยาบคาย
4. พูดคำที่มีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์
5. มีเมตตาจิตพูดหรือมีโทสะพูด

บุคคลอื่นเมื่อพูด จะพึงพูดตามกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะพึงพูด
เรื่องที่เป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็ตาม จะพึงพูดคำที่อ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม
จะพึงพูดคำที่มีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์ก็ตาม จะพึงมีเมตตาจิตพูดหรือมีโทสะพูด
ก็ตาม ในข้อนั้น เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า 'จิตของเราจักไม่แปรผัน
เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ และจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์อยู่อย่างผู้มี
เมตตาจิต ไม่มีโทสะ เราจักแผ่เมตตาจิตไปให้บุคคลนั้นอยู่ และเราจักแผ่เมตตาจิต
อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ2 ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนไปยังสัตว์โลก
ทุกหมู่เหล่าอันเป็นอารมณ์ของเมตตาจิตนั้นอยู่'
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรสำเหนียกด้วยอาการดังกล่าวมานี้

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 3 ข้อ 23 (สัพพาสวสูตร) หน้า 23 ในเล่มนี้
2 ดูเชิงอรรถที่ 1 ข้อ 68 (อากังเขยยสูตร) หน้า 60 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :239 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 1. กกจูปมสูตร

ทำใจให้หนักแน่นเหมือนแผ่นดิน

[228] ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษถือเอาจอบและตะกร้ามาแล้วพูด
อย่างนี้ว่า 'เราจักทำแผ่นดินใหญ่นี้ไม่ให้เป็นแผ่นดิน' เขาขุดลงตรงที่นั้น ๆ โกย
เศษดินทิ้งลงไปในที่นั้น ๆ บ้วนน้ำลายลงในที่นั้น ๆ ถ่ายปัสสาวะรดลงในที่นั้น ๆ
แล้วพูดสำทับว่า 'เอ็งอย่าเป็นแผ่นดิน เอ็งอย่าเป็นแผ่นดิน' เธอทั้งหลายเข้าใจ
ความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นพึงทำแผ่นดินใหญ่นี้ไม่ให้เป็นแผ่นดินได้หรือไม่"
"ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า"
"ข้อนั้นเพราะเหตุไร"
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะแผ่นดินใหญ่นี้ลึกหาประมาณมิได้ เขาจะทำ
แผ่นดินใหญ่นั้นไม่ให้เป็นแผ่นดินไม่ได้ง่าย บุรุษนั้นจะต้องได้รับความเหน็ดเหนื่อย
และความลำบากใจเป็นแน่แท้"
"ภิกษุทั้งหลาย วิธีพูดที่บุคคลอื่นจะใช้พูดกับเธอทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน
มีอยู่ 5 ประการนี้ คือ

1. พูดตามกาลอันสมควรหรือไม่สมควร
2. พูดเรื่องที่เป็นจริงหรือไม่เป็นจริง
3. พูดคำที่อ่อนหวานหรือหยาบคาย
4. พูดคำที่มีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์
5. มีเมตตาจิตพูดหรือมีโทสะพูด

บุคคลอื่นเมื่อพูด จะพึงพูดตามกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะพึงพูด
เรื่องที่เป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็ตาม จะพึงพูดคำที่อ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม
จะพึงพูดคำที่มีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์ก็ตาม จะพึงมีเมตตาจิตพูดหรือมีโทสะพูด
ก็ตาม ในข้อนั้น เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า 'จิตของเราจักไม่แปรผัน
เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ และจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์อยู่อย่างผู้มี
เมตตาจิต ไม่มีโทสะ เราจักแผ่เมตตาจิตไปให้บุคคลนั้นอยู่ และเราจักแผ่เมตตาจิต
อันไพบูลย์ เสมอด้วยแผ่นดิน เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียน ไปยังสัตว์โลกทุกหมู่เหล่าอันเป็นอารมณ์ของเมตตาจิตนั้นอยู่'
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรสำเหนียกด้วยอาการดังกล่าวมานี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :240 }