เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [2. สีหนาทวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งมั่น สงบ
เป็นภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายในโดยแท้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เราเรียกว่า 'ผู้ชำนาญในวิถีทางแห่งวิตก เธอหวังวิตก
ใดก็จักตรึกถึงวิตกนั้นได้ ไม่หวังวิตกใดก็จักไม่ตรึกถึงวิตกนั้นได้ ตัดตัณหาได้แล้ว
คลายสังโยชน์ได้แล้ว ทำที่สุดทุกข์ได้แล้ว เพราะละมานะได้โดยชอบ"
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

วิตักกสัณฐานสูตรที่ 10 จบ
สีหนาทวรรคที่ 2 จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. จูฬสีหนาทสูตร 2. มหาสีหนาทสูตร
3. มหาทุกขักขันธสูตร 4. จูฬทุกขักขันธสูตร
5. อนุมานสูตร 6. เจโตขีลสูตร
7. วนปัตถสูตร 8. มธุปิณฑิกสูตร
9. เทฺวธาวิตักกสูตร 10. วิตักกสัณฐานสูตร


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 1. กกจูปมสูตร

3. โอปัมมวรรค
หมวดว่าด้วยข้ออุปมา
1. กกจูปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยเลื่อย

[222] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระโมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับ
ภิกษุณีทั้งหลายเกินเวลา ท่านพระโมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับภิกษุณีทั้งหลาย
อย่างนี้ ถ้าภิกษุบางรูปติเตียนภิกษุณีเหล่านั้นต่อหน้าท่านพระโมลิยผัคคุนะ ท่าน
พระโมลิยผัคคุนะก็โกรธไม่พอใจภิกษุรูปนั้นถึงกับก่ออธิกรณ์1ขึ้นก็มี อนึ่ง ถ้าภิกษุ
บางรูปติเตียนท่านพระโมลิยผัคคุนะต่อหน้าภิกษุณีเหล่านั้น ภิกษุณีเหล่านั้นก็พากัน
โกรธไม่พอใจภิกษุรูปนั้นถึงกับก่ออธิกรณ์ขึ้นก็มี ท่านพระโมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับ
ภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้
ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระโมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุณีเกิน
เวลา ท่านพระโมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุณีอย่างนี้ ถ้าภิกษุบางรูป
ติเตียนภิกษุณีเหล่านั้นต่อหน้าท่านพระโมลิยผัคคุนะ ท่านพระโมลิยผัคคุนะก็โกรธ

เชิงอรรถ :
1 อธิกรณ์ หมายถึงเรื่องที่สงฆ์จะต้องดำเนินการ มี 4 อย่าง คือ (1) วิวาทาธิกรณ์ การเถียงกันเกี่ยวกับ
พระธรรมวินัย (2) อนุวาทาธิกรณ์ การโจทหรือกล่าวหากันด้วยอาบัติ (ละเมิดสิกขาบท) (3) อาปัตตาธิกรณ์
การต้องอาบัติ การปรับอาบัติ และการแก้ไขตัวให้พ้นจากอาบัติ (4) กิจจาธิกรณ์ กิจธุระต่าง ๆ ที่สงฆ์จะ
ต้องทำ เช่น ให้อุปสมบท ให้ผ้ากฐิน แต่ในที่นี้หมายถึงอนุวาทาธิกรณ์ (องฺ.ทุก.อ. 2/15/12, ม.มู.อ.
2/222/2)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :233 }