เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 2. สัพพาสวสูตร

ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วฉันบิณฑบาตไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อความ
มัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ1 ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง2 แต่เพียงเพื่อกายนี้ดำรงอยู่ได้ เพื่อให้
ชีวิตินทรีย์เป็นไป เพื่อบำบัดความหิว เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดเห็นว่า
'โดยอุบายนี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่าเสียได้ และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความ
ดำรงอยู่แห่งชีวิต ความไม่มีโทษ และการอยู่โดยผาสุกจักมีแก่เรา' แล้วจึงบริโภค
อาหาร
ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้สอยเสนาสนะเพียงเพื่อป้องกันความหนาว
ความร้อน เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อบรรเทา
อันตรายที่เกิดจากฤดู และเพื่อความยินดีในการหลีกเร้น
ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้สอยคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร3 เพียงเพื่อบรรเทา
เวทนาที่เกิดจากอาพาธต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว และเพื่อไม่มีความเบียดเบียนเป็นที่สุด
ซึ่งเมื่อเธอไม่ใช้สอยอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น
เมื่อเธอใช้สอยอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอด้วย
อาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยการใช้สอย

เชิงอรรถ :
1 เพื่อประดับ ในที่นี้หมายถึงเพื่อให้ร่างกายอ้วนพี อวบอิ่มเหมือนหญิงแพศยา (ม.มู.ฏีกา 1/23/211,
องฺ.ฉกฺก.ฏีกา 3/58/155, วิสุทฺธิ. 1/18/33)
2 เพื่อตกแต่ง ในที่นี้หมายถึงเพื่อประเทืองผิวให้งดงาม เหมือนหญิงนักฟ้อน มุ่งถึงความมีผิวพรรณงาม (ม.มู.
ฏีกา 1/23/211, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา 3/58/155, วิสุทฺธิ. 1/18/33)
3 คิลานปัจจัยเภสัชบริชาร คือเภสัช 5 ชนิด ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย (วิ.อ. 2/290/40,
สารตฺถ.ฏีกา 2/290/393)
เป็นสิ่งสัปปายะสำหรับภิกษุผู้เจ็บไข้ จัดว่าเป็นบริขาร คือบริวารของชีวิต ดุจกำแพงล้อมพระนคร
เพราะคอยป้องกันรักษาไม่ให้อาพาธที่จะบั่นรอนชีวิตได้ช่องเกิดขึ้น และเป็นสัมภาระของชีวิต คอยประคับ
ประคองชีวิตให้ดำรงอยู่นาน (วิ.อ. 2/290/40-41, ม.มู.อ. 1/191/397, ม.มู.ฏีกา 1/23/213)
เป็นเครื่องป้องกันโรค บำบัดโรคที่ให้เกิดทุกขเวทนา เนื่องจากธาตุกำเริบให้หายไป (สารตฺถ.ฏีกา
2/290/393)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :23 }