เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [2. สีหนาทวรรค] 9. เทฺวธาวิตักกสูตร

ทรงชี้ทางผิดและทางถูก

[215] ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมีเนื้อฝูงใหญ่พากันเข้าไปอาศัยบึงใหญ่
ในป่าดง มีชายคนหนึ่งผู้ปรารถนาความพินาศ ไม่ต้องการจะเกื้อกูล ไม่ประสงค์
ความปลอดภัยแก่ฝูงเนื้อนั้น เขาปิดทางที่ปลอดภัย มีความสวัสดี ไปได้ตามชอบ
ใจของฝูงเนื้อนั้น เปิดทางที่ไม่สะดวก ผูกเนื้อต่อตัวผู้ ซุ่มนางเนื้อต่อไว้
เมื่อเป็นเช่นนี้ สมัยต่อมา เนื้อฝูงใหญ่ก็ต้องมาตายเหลือจำนวนน้อย แต่ยังมีชาย
คนหนึ่งผู้ปรารถนาประโยชน์ ต้องการจะเกื้อกูล ประสงค์ความปลอดภัยแก่ฝูงเนื้อ
นั้น เขาเปิดทางที่ปลอดภัย มีความสวัสดี ไปได้ตามชอบใจของฝูงเนื้อนั้น ปิด
ทางที่ไม่สะดวก กำจัดเนื้อต่อตัวผู้ ทำลายนางเนื้อต่อแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ สมัยต่อมา
เนื้อฝูงใหญ่ก็ต้องมีจำนวนมากขึ้น คับคั่ง ล้นหลาม แม้ฉันใด ข้ออุปมานี้ก็ฉันนั้น
เราได้ทำขึ้นก็เพื่อจะให้เธอทั้งหลายรู้ความหมายของเนื้อความในอุปมานั้น มีอธิบาย
ดังต่อไปนี้
คำว่า บึงใหญ่ นี้ เป็นชื่อแห่งกามทั้งหลาย
คำว่า เนื้อฝูงใหญ่ นี้ เป็นชื่อของหมู่สัตว์ทั้งหลาย
คำว่า ชายผู้ปรารถนาความพินาศ ไม่ต้องการจะเกื้อกูล ไม่ประสงค์ความ
ปลอดภัย นี้ เป็นชื่อของมารใจบาป
คำว่า ทางที่ไม่สะดวก นี้ เป็นชื่อของมิจฉามรรค(ทางผิด)มีองค์ 8 คือ

1. มิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิด) 2. มิจฉาสังกัปปะ (ดำริผิด)
3. มิจฉาวาจา (เจรจาผิด) 4. มิจฉากัมมันตะ (กระทำผิด)
5. มิจฉาอาชีวะ (เลี้ยงชีพผิด) 6. มิจฉาวายามะ (พยายามผิด)
7. มิจฉาสติ (ระลึกผิด) 8. มิจฉาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นผิด)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :224 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [2. สีหนาทวรรค] 9. เทฺวธาวิตักกสูตร

คำว่า เนื้อต่อตัวผู้ นี้ เป็นชื่อแห่งความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน
คำว่า นางเนื้อต่อ นี้ เป็นชื่อของอวิชชา
คำว่า ชายผู้ปรารถนาประโยชน์ ต้องการจะเกื้อกูล ประสงค์ความปลอดภัย
นี้ เป็นชื่อของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
คำว่า ทางที่ปลอดภัย มีความสวัสดี ไปได้ตามชอบใจ นี้ เป็นชื่อของ
อริยมรรคมีองค์ 8 คือ

1. สัมมาทิฏฐิ 2. สัมมาสังกัปปะ
3. สัมมาวาจา 4. สัมมากัมมันตะ
5. สัมมาอาชีวะ 6. สัมมาวายามะ
7. สัมมาสติ 8. สัมมาสมาธิ

ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังกล่าวมาแล้วนี้ เราได้เปิดทางที่ปลอดภัย
มีความสวัสดีที่พวกเธอควรดำเนินไปได้ตามใจชอบให้แล้ว และปิดทางที่ไม่สะดวก
ให้ด้วย กำจัดเนื้อต่อตัวผู้ให้แล้ว และทำลายนางเนื้อต่อให้แล้ว กิจใดที่ศาสดาผู้
หวังประโยชน์เกื้อกูล เอื้อเฟื้อ อาศัยความอนุเคราะห์จะพึงกระทำแก่สาวกทั้งหลาย
กิจนั้นตถาคตก็ได้กระทำแก่เธอทั้งหลายแล้ว นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลาย
จงเพ่งพินิจ อย่าประมาท อย่าได้มีความเดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำพร่ำสอน
ของตถาคตสำหรับเธอทั้งหลาย"
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

เทฺวธาวิตักกสูตรที่ 9 จบ