เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [2. สีหนาทวรรค] 9. เทฺวธาวิตักกสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยิ่งตรึกตรองถึงวิตกใด ๆ มาก เธอก็มีใจน้อมไปในวิตก
นั้น ๆ ถ้าเธอยิ่งตรึกตรองถึงกามวิตกมาก เธอก็ละทิ้งเนกขัมมวิตก กระทำแต่
กามวิตกให้มาก จิตของเธอนั้นก็น้อมไปเพื่อกามวิตก ถ้าภิกษุยิ่งตรึกตรองถึง
พยาบาทวิตกมาก ฯลฯ ถ้าภิกษุยิ่งตรึกตรองถึงวิหิงสาวิตกมาก เธอก็ละทิ้ง
อวิหิงสาวิตก กระทำแต่วิหิงสาวิตกให้มาก จิตของเธอนั้นก็น้อมไปเพื่อวิหิงสาวิตก
ในสารทสมัยเดือนท้ายแห่งฤดูฝน คนเลี้ยงโคต้องคอยระวังโคทั้งหลายในที่มี
ข้าวกล้าหนาแน่น เขาต้องตีต้อนโคทั้งหลายไปจากที่นั้น ๆ กั้นไว้ ห้ามไว้ ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะคนเลี้ยงโคมองเห็นการฆ่า การถูกจองจำ การเสียทรัพย์
การถูกติเตียน เพราะโคทั้งหลายเป็นต้นเหตุ แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ได้เห็นโทษ ความเลวทราม ความเศร้าหมองแห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย และเห็น
อานิสงส์ในเนกขัมมะอันเป็นฝ่ายผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย

กุศลวิตก 3

[209] ภิกษุทั้งหลาย เนกขัมมวิตกย่อมเกิดขึ้นแก่เราผู้ไม่ประมาท มีความ
เพียร อุทิศกายและใจอยู่อย่างนี้ เรานั้นย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า 'เนกขัมมวิตกนี้
เกิดขึ้นแก่เราแล้ว' แต่เนกขัมมวิตกนั้นไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน ไม่เป็นไปเพื่อ
เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น เป็นเหตุทำปัญญาให้เจริญ
ไม่เป็นส่วนแห่งความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพาน ถ้าเราจะพึงตรึกตรองถึง
เนกขัมมวิตกนั้นอยู่ตลอดคืน เราก็จักมองไม่เห็นภัยอันจะเกิดจากเนกขัมมวิตกนั้นได้เลย
หากเราจะพึงตรึกตรองถึงเนกขัมมวิตกนั้นอยู่ตลอดวัน เราก็จักมองไม่เห็นภัยอันจะ
เกิดจากเนกขัมมวิตกนั้นได้เลย หากเราจะตรึกตรองถึงเนกขัมมวิตกนั้นตลอดทั้งคืน
ทั้งวัน เราก็จักมองไม่เห็นภัยอันจะเกิดจากเนกขัมมวิตกนั้นได้เลย แต่เมื่อเราตรึก
ตรองนานเกินไป ร่างกายก็เหน็ดเหนื่อย เมื่อร่างกายเหน็ดเหนื่อย จิตก็ฟุ้งซ่าน
เมื่อจิตฟุ้งซ่าน จิตก็ห่างจากสมาธิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :220 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [2. สีหนาทวรรค] 9. เทฺวธาวิตักกสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นตั้งจิตไว้ในภายใน ทำให้สงบ ทำให้เกิดสมาธิ
ประคองไว้ด้วยดี ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราปรารถนาไว้ว่า 'จิตของเรา
อย่าฟุ้งซ่านอีกเลย'
[210] ภิกษุทั้งหลาย อพยาบาทวิตกย่อมเกิดขึ้นแก่เราผู้ไม่ประมาท มี
ความเพียร อุทิศกายและใจอยู่อย่างนี้ ฯลฯ อวิหิงสาวิตกย่อมเกิดขึ้น เรานั้นย่อม
ทราบชัดอย่างนี้ว่า 'อวิหิงสาวิตกนี้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว' แต่อวิหิงสาวิตกนั้นไม่เป็น
ไปเพื่อเบียดเบียนตน ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง
ตนและผู้อื่น เป็นเหตุทำปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นส่วนแห่งความคับแค้น เป็นไป
เพื่อนิพพาน ถ้าเราจะพึงตรึกตรองถึงอวิหิงสาวิตกนั้นอยู่ตลอดคืน เราก็จักมองไม่
เห็นภัยอันจะเกิดจากอวิหิงสาวิตกนั้นได้เลย หากเราจะพึงตรึกตรองถึงอวิหิงสาวิตก
นั้นอยู่ตลอดวัน เราก็จักมองไม่เห็นภัยอันจะเกิดจากอวิหิงสาวิตกนั้นได้เลย หาก
เราจะพึงตรึกตรองถึงอวิหิงสาวิตกนั้นตลอดทั้งคืนทั้งวัน เราก็จักมองไม่เห็นภัยอัน
จะเกิดจากอวิหิงสาวิตกนั้นได้เลย แต่เมื่อเราตรึกตรองอยู่นานเกินไป ร่างกายก็
เหน็ดเหนื่อย เมื่อร่างกายเหน็ดเหนื่อย จิตก็ฟุ้งซ่าน เมื่อจิตฟุ้งซ่าน จิตก็ห่าง
จากสมาธิ เรานั้นตั้งจิตไว้ในภายใน ทำให้สงบ ทำให้เกิดสมาธิ ประคองไว้ด้วยดี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราปรารถนาไว้ว่า 'จิตของเราอย่าฟุ้งซ่านอีกเลย'
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยิ่งตรึกตรองถึงวิตกใด ๆ มาก เธอก็มีใจน้อมไปในวิตก
นั้น ๆ มาก ถ้าภิกษุยิ่งตรึกตรองถึงเนกขัมมวิตกมาก เธอก็จะละกามวิตกได้
ทำเนกขัมมวิตกอย่างเดียวให้มาก จิตของเธอนั้นก็จะน้อมไปเพื่อเนกขัมมวิตก ถ้า
ภิกษุยิ่งตรึกตรองถึงอพยาบาทวิตกมาก ฯลฯ ถ้าภิกษุยิ่งตรึกตรองถึงอวิหิงสาวิตก
มาก เธอก็จะละวิหิงสาวิตกได้ ทำอวิหิงสาวิตกอย่างเดียวให้มาก จิตของเธอนั้น
ก็จะน้อมไปเพื่ออวิหิงสาวิตก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :221 }