เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 2. สัพพาสวสูตร

อาสวะที่ต้องละด้วยการสังวร

[22] อาสวะที่ต้องละด้วยการสังวร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคาย เป็นผู้สำรวมด้วยการสังวรใน
จักขุนทรีย์1อยู่ ซึ่งเมื่อเธอไม่สำรวมอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น
ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอสำรวมอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ย่อม
ไม่มีแก่เธอด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมด้วย
การสังวรในโสตินทรีย์อยู่ฯลฯ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมด้วย
การสังวรในฆานินทรีย์อยู่ ฯลฯ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวม
ด้วยการสังวรในชิวหินทรีย์อยู่ ฯลฯ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวม
ด้วยการสังวรในกายินทรีย์อยู่ ฯลฯ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวม
ด้วยการสังวรในมนินทรีย์อยู่ ซึ่งเมื่อเธอไม่สำรวมอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่
ก่อความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอสำรวมอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อ
ความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยการสังวร

อาสวะที่ต้องละด้วยการใช้สอย

[23] อาสวะที่ต้องละด้วยการใช้สอย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้สอยจีวรเพียงเพื่อป้องกัน
ความหนาว ความร้อน เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลาน
เพียงเพื่อปกปิดอวัยวะที่ก่อให้เกิดความละอาย

เชิงอรรถ :
1 จักขุนทรีย์ หมายถึงจักขุที่เป็นปสาทรูป อาศัยมหาภูตรูป 4 นับเนื่องในอัตภาพ ที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้
เคยกระทบ กำลังกระทบ จักกระทบ หรือพึงกระทบ (อภิ.สงฺ.(แปล) 34/597/191) ที่ชื่อว่า จักขุนทรีย์
เพราะทำหน้าที่เป็นใหญ่ในจักขุทวาร (อภิ.วิ.อ. 2/219/134) โสตินทรีย์เป็นต้นก็มีนัยเช่นเดียวกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :22 }