เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [2. สีหนาทวรรค] 8. มธุปิณฑิกสูตร

ไม่มีในเพราะเหตุนั้น ข้อนี้เป็นที่สุดแห่งราคานุสัย เป็นที่สุดแห่งปฏิฆานุสัย เป็น
ที่สุดแห่งทิฏฐานุสัย เป็นที่สุดแห่งวิจิกิจฉานุสัย เป็นที่สุดแห่งมานานุสัย เป็น
ที่สุดแห่งภวราคานุสัย เป็นที่สุดแห่งอวิชชานุสัย และเป็นที่สุดแห่งการถือท่อนไม้
การถือศัสตรา การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การส่อเสียดยุยง และการ
กล่าวเท็จ บาปอกุศลธรรมเหล่านี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือเพราะเหตุนั้น"
ครั้นพระผู้มีพระภาคผู้สุคตเจ้าได้ตรัสดังนี้แล้ว ก็เสด็จลุกขึ้นจากพุทธอาสน์เข้า
ไปยังที่ประทับ
[202] ครั้งนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน ภิกษุเหล่านั้นได้มี
ความสงสัยว่า "ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสนี้แก่พวกเราโดย
ย่อว่า 'ภิกษุ แง่ต่าง ๆ แห่งปปัญจสัญญาย่อมครอบงำบุรุษเพราะเหตุใด ถ้าสิ่งที่
บุคคลจะพึงยินดี จะพึงยอมรับ จะพึงยึดถือ ไม่มีเพราะเหตุนั้น ข้อนี้เป็นที่สุด
แห่งราคานุสัย เป็นที่สุดแห่งปฏิฆานุสัย เป็นที่สุดแห่งทิฏฐานุสัย เป็นที่สุดแห่ง
วิจิกิจฉานุสัย เป็นที่สุดแห่งมานานุสัย เป็นที่สุดแห่งภวราคานุสัย เป็นที่สุดแห่ง
อวิชชานุสัย และเป็นที่สุดแห่งการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา การทะเลาะ การ
แก่งแย่ง การวิวาท การส่อเสียดยุยง และการกล่าวเท็จ บาปอกุศลธรรมเหล่านี้
ย่อมดับไปโดยไม่เหลือเพราะเหตุนั้น' แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร เสด็จลุก
จากพุทธอาสน์เข้าไปยังที่ประทับ ใครเล่าหนอ จะพึงชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทส
ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้"
ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นเกิดความคิดขึ้นว่า "ท่านมหากัจจานะนี้ พระศาสดา
ทรงยกย่อง ทั้งเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็สรรเสริญแล้ว และท่านมหากัจจานะ
ก็สามารถจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรง
ชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้ ทางที่ดี เราทั้งหลายควรเข้าไปหาท่านมหากัจจานะ
จนถึงที่อยู่ แล้วควรสอบถามเนื้อความนี้กับท่านมหากัจจานะ"
ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะจนถึงที่อยู่ ได้
สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กล่าวกับท่านพระมหากัจจานะว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :211 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [2. สีหนาทวรรค] 8. มธุปิณฑิกสูตร

"ท่านกัจจานะ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสนี้แก่พวกเราโดยย่อว่า
'ภิกษุ แง่ต่าง ๆ แห่งปปัญจสัญญาย่อมครอบงำบุรุษเพราะเหตุใด ถ้าสิ่งที่บุคคล
จะพึงยินดี จะพึงยอมรับ จะพึงยึดถือ ไม่มีเพราะเหตุนั้น ข้อนี้เป็นที่สุดแห่ง
ราคานุสัย ฯลฯ บาปอกุศลธรรมเหล่านี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือในเพราะเหตุนั้น'
แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร ทรงลุกจากพุทธอาสน์เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงจากไปไม่นาน พวกกระผมได้เกิดความสงสัยว่า 'พระผู้มี
พระภาคทรงแสดงอุทเทสนี้แก่พวกเราโดยย่อว่า 'ภิกษุ แง่ต่าง ๆ แห่งปปัญจสัญญา
ย่อมครอบงำบุรุษเพราะเหตุใด ถ้าสิ่งที่บุคคลจะพึงยินดี จะพึงยอมรับ จะพึงยึดถือ
ไม่มีเพราะเหตุนั้น ข้อนี้เป็นที่สุดแห่งราคานุสัย ฯลฯ บาปอกุศลธรรมเหล่านี้
ย่อมดับไปโดยไม่เหลือในเพราะเหตุนั้น' แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร ทรง
ลุกขึ้นจากพุทธอาสน์เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ ใครเล่าหนอ จะพึงชี้แจงเนื้อความแห่ง
อุทเทส ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้'
ท่านกัจจานะ พวกกระผมคิดว่า 'ท่านมหากัจจานะนี้เป็นผู้ที่พระศาสดาทรง
ยกย่อง ทั้งเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็สรรเสริญแล้ว และท่านมหากัจจานะก็
สามารถจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรง
ชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้ ทางที่ดี เราทั้งหลายควรเข้าไปหาท่านมหากัจจานะ
จนถึงที่อยู่ แล้วควรสอบถามเนื้อความนี้กับท่านมหากัจจานะ' ขอท่านมหากัจจานะ
จงชี้แจงเถิด"
[203] ท่านพระมหากัจจานะจึงตอบว่า "ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อุปมาเหมือน
บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ ผ่านโคนและลำต้นของต้นไม้
ใหญ่ซึ่งมีแก่นไป เขาจะพึงเข้าใจว่าแก่นไม้ต้องแสวงหาที่กิ่งและใบไม้ แม้ฉันใด
ข้ออุปไมยนี้ก็ฉันนั้น เมื่อพระศาสดาทรงปรากฏเฉพาะหน้าท่านทั้งหลาย ท่าน
ทั้งหลายก็ผ่านพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นไป และจะพึงเข้าใจเนื้อความนั้นว่าต้อง
สอบถามกับเรา แท้จริง พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ ทรงเห็นสิ่งที่
ควรเห็น เป็นผู้มีพระจักษุ มีพระญาณ มีธรรม เป็นพรหม เป็นผู้เผยแผ่ ประกาศ
ขยายเนื้อความ เป็นผู้ให้อมตธรรม เป็นเจ้าของธรรม เป็นพระตถาคต และเวลา
นี้ก็เป็นเวลาอันสมควรที่พวกท่านจะทูลถามเนื้อความนี้กับพระผู้มีพระภาคพระองค์
นั้นแล้ว พระองค์ทรงตอบอย่างใด ท่านทั้งหลายควรทรงจำเนื้อความนั้นไว้อย่างนั้น"

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :212 }