เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [2. สีหนาทวรรค] 8. มธุปิณฑิกสูตร

8. มธุปิณฑิกสูตร
ว่าด้วยธรรมเทศนาอันไพเราะ

[199] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์
แคว้นสักกะ ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงกบิลพัสดุ์ กลับจากบิณฑบาตภายหลังเสวย
พระกระยาหารเสร็จแล้ว เสด็จเข้าไปยังป่ามหาวันเพื่อทรงพักผ่อนกลางวัน แล้วจึง
ประทับพักผ่อนกลางวัน ณ โคนต้นมะตูมหนุ่ม ฝ่ายทัณฑปาณิศากยะกำลังเดิน
เที่ยวชมทิวทัศน์ ได้เสด็จเข้าไปยังป่ามหาวันแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค จนถึง
ต้นมะตูมหนุ่ม แล้วสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว
ยืนขึ้นยันไม้เท้าลง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า "พระสมณะ
มีปกติกล่าวอย่างไร บอกอย่างไร"

ตอบปัญหาทัณฑปาณิ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า "ผู้มีอายุ บุคคลมีปกติกล่าวอย่างใดจึงไม่โต้เถียง
กับใคร ๆ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณ-
พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์แล้วดำรงอยู่ในโลก อนึ่ง สัญญาทั้งหลายย่อมไม่
ครอบงำพราหมณ์ผู้อยู่ปราศจากกามทั้งหลาย ผู้ไม่มีความสงสัย ผู้ตัดความ
คะนองได้ ผู้ปราศจากความทะยานอยากในภพน้อยภพใหญ่ได้โดยประการใด เรา
มีปกติกล่าวอย่างนั้น บอกอย่างนั้น โดยประการนั้น"
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้นแล้ว ทัณฑปาณิศากยะสั่นศีรษะ แลบลิ้น
ทำหน้าผากย่นเป็น 3 รอย ถือไม้เท้ายันขึ้นแล้วจากไป
[200] ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้นเข้าไปยัง
นิโครธาราม แล้วประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว จึงรับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :209 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [2. สีหนาทวรรค] 8. มธุปิณฑิกสูตร

"ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเช้านี้ เราครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงกบิลพัสดุ์ กลับจากบิณฑบาตภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว จึง
เข้าไปยังป่ามหาวันเพื่อพักผ่อนกลางวัน แล้วนั่งพักผ่อนกลางวัน ณ โคนต้น
มะตูมหนุ่ม แม้ทัณฑปาณิศากยะก็เดินเที่ยวชมทิวทัศน์เข้าไปยังป่ามหาวัน ครั้น
แล้วจึงเข้าไปหาเราจนถึงต้นมะตูมหนุ่ม ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว ได้ยืนขึ้นยันไม้เท้าลง ณ ที่สมควร ครั้นแล้วได้ถามเราว่า
'พระสมณะ มีปกติกล่าวอย่างไร บอกอย่างไร' เมื่อทัณฑปาณิศากยะกล่าวอย่าง
นั้นแล้ว เราได้ตอบว่า 'ผู้มีอายุ บุคคลมีปกติกล่าวอย่างใดจึงจะไม่โต้เถียงกับใคร ๆ
ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดาและมนุษย์แล้วดำรงอยู่ในโลก อนึ่ง สัญญาทั้งหลายย่อมไม่ครอบงำ
พราหมณ์ผู้อยู่ปราศจากกามทั้งหลาย ผู้ไม่มีความสงสัย ผู้ตัดความคะนองได้
ผู้ปราศจากความทะยานอยากในภพน้อยภพใหญ่ได้โดยประการใด เรามีปกติกล่าว
อย่างนั้น บอกอย่างนั้น โดยประการนั้น' เมื่อเรากล่าวอย่างนั้นแล้ว ทัณฑปาณิ-
ศากยะสั่นศีรษะ แลบลิ้น ทำหน้าผากย่นเป็น 3 รอย ถือไม้เท้ายันขึ้นแล้ว
จากไป"

ทรงแสดงอุทเทส

[201] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้นแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้
มีพระภาคว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคมีปกติตรัสอย่างไรจึงจะไม่
โต้เถียงกับใคร ๆ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อม
ทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์แล้วดำรงอยู่ในโลก อนึ่ง สัญญาทั้งหลายจะ
ไม่ครอบงำพราหมณ์นั้นผู้อยู่ปราศจากกามทั้งหลาย ผู้ไม่มีความสงสัย ผู้ตัดความ
คะนองได้ ผู้ปราศจากความทะยานอยากในภพน้อยภพใหญ่ได้อย่างไร"
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า "ภิกษุ แง่ต่าง ๆ แห่งปปัญจสัญญา1 ย่อม
ครอบงำบุรุษ เพราะเหตุใด ถ้าสิ่งที่บุคคลจะพึงยินดี จะพึงยอมรับ จะพึงยึดถือ

เชิงอรรถ :
1 แง่ต่าง ๆ แห่งปปัญจสัญญา แปลจากคำว่า ปปญฺจสญฺญาสงฺขา แยกอธิบายศัพท์ได้ดังนี้ คำว่า
ปปญฺจสญฺญา หมายถึงสัญญาอันประกอบด้วยกิเลสเป็นเหตุเนิ่นช้า คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ คำว่า
สงฺขา หมายถึงแง่ต่าง ๆ ดังนั้น ปปญฺจสญฺญาสงฺขา จึงแปลว่า แง่ต่าง ๆ แห่งสัญญาอันประกอบด้วย
กิเลสเป็นเหตุเนิ่นช้า (ม.มู.อ. 1/201/401)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :210 }