เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 2. สัพพาสวสูตร

[19] เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการโดยไม่แยบคายอย่างนี้ ทิฏฐิ(ความเห็นผิด)
อย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาทิฏฐิ 6 ก็เกิดขึ้น คือ
1. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า 'อัตตาของเรามีอยู่'
2. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า 'อัตตาของเราไม่มี'
3. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า 'เรารู้จักอัตตาได้ด้วยอัตตา'
4. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า 'เรารู้จักสิ่งที่ไม่ใช่อัตตาได้ด้วยอัตตา'
5. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า 'เรารู้จักอัตตาได้ด้วยสิ่งที่ไม่ใช่อัตตา'
6. อีกอย่างหนึ่ง ทิฏฐิเกิดมีแก่ผู้นั้น อย่างนี้ว่า 'อัตตาของเรานี้ใด เป็นผู้กล่าว
เป็นผู้รู้ เสวยผลแห่งกรรมดีและกรรมชั่วในอารมณ์นั้น ๆ อัตตาของเรา
นี้นั้นเป็นสภาวะที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา
จักดำรงอยู่เสมอด้วยสิ่งที่แน่นอน'
ข้อนี้เราเรียกว่า ทิฏฐิ ได้แก่ ป่าทึบคือทิฏฐิ ทางกันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนาม
คือทิฏฐิ ความเดือดร้อนคือทิฏฐิ กิเลสเครื่องผูกพันสัตว์คือทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า 'ปุถุชนผู้ประกอบด้วยทิฏฐิสังโยชน์ ผู้ยังไม่ได้สดับ
ย่อมไม่พ้นจากชาติ(ความเกิด) ชรา(ความแก่) มรณะ(ความตาย) โสกะ(ความ
เศร้าโศก) ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ)
และอุปายาส(ความคับแค้นใจ) ย่อมไม่พ้นจากทุกข์'
[20] ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ได้พบพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดใน
ธรรมของพระอริยะ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของพระอริยะ พบสัตบุรุษทั้งหลาย
ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมรู้ทั่วถึง
ธรรมที่ควรมนสิการ รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ อริยสาวกนั้นเมื่อรู้ทั่วถึงธรรม
ที่ควรมนสิการ เมื่อรู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ย่อมไม่มนสิการถึงธรรมที่ไม่ควร
มนสิการ มนสิการถึงแต่ธรรมที่ควรมนสิการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :20 }