เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 1. มูลปริยายสูตร

กำหนดภูมิตามนัยที่ 1 ว่าด้วยปุถุชน

[2] "ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชน1ในโลกนี้ผู้ยังไม่ได้สดับ ไม่ได้พบพระอริยะ2
ทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ
ไม่ได้พบสัตบุรุษ3ทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำใน
ธรรมของสัตบุรุษ หมายรู้ปฐวี4(ดิน)โดยความเป็นปฐวี ครั้นหมายรู้ปฐวีโดย
ความเป็นปฐวี5แล้ว กำหนดหมายซึ่งปฐวี6 กำหนดหมายในปฐวี กำหนดหมาย
นอกปฐวี7 กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของเรา ยินดีปฐวี8

เชิงอรรถ :
1 ปุถุชน หมายถึงคนที่ยังมีกิเลสหนา ที่เรียกเช่นนี้เพราะบุคคลประเภทนี้ยังมีเหตุก่อให้เกิดกิเลสอย่างหนา
นานัปการ ปุถุชนมี 2 ประเภท คือ (1) อันธปุถุชน คนที่ไม่ได้รับการศึกษาอบรมทางจิต(2) กัลยาณ-
ปุถุชน คนที่ได้รับการศึกษาอบรมทางจิตแล้ว (ม.มู.อ. 1/2/22, ที.สี.อ. 1/7/58-59)
2 พระอริยะ หมายถึงพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระพุทธสาวก ที่ชื่อว่าพระอริยะเพราะเป็นผู้
ไกลจากกิเลส ไม่ดำเนินไปในทางเสื่อม ดำเนินไปแต่ในทางเจริญ เป็นผู้ที่ชาวโลกและเทวโลกควรดำเนินตาม
(ม.มู.อ. 1/2/22)
3 สัตบุรุษ โดยทั่วไป หมายถึงคนกตัญญูกตเวที เป็นนักปราชญ์ เป็นกัลยาณมิตร เป็นผู้มีความภักดีมั่นคง
กระทำการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ด้วยความเต็มใจ แต่ในที่นี้ หมายถึงพระพุทธเจ้าพระปัจเจกพุทธเจ้า
และพระพุทธสาวก (ขุ.ชา. (แปล) 27/78-79/608, ม.มู.อ. 1/2/22)
4 ปฐวี มี 4 ชนิด คือ (1) ลักขณปฐวี เป็นสิ่งที่แข็งกระด้าง หยาบเฉพาะตนในตัวมันเอง(2) สสัมภารปฐวี
เป็นส่วนแห่งอวัยวะมีผมเป็นต้น และวัตถุภายนอกมีโลหะเป็นต้น พร้อมทั้งคุณสมบัติมีสีเป็นต้น
(3) อารัมมณปฐวี เป็นปฐวีธาตุที่นำมากำหนดเป็นอารมณ์ของปฐวีกสิณ นิมิตตปฐวี ก็เรียก
(4) สัมมติปฐวี เป็นปฐวีธาตุที่ปฐวีเทวดามาเกิดในเทวโลกด้วยอำนาจปฐวีกสิณและฌานในที่นี้ ปฐวี
หมายถึงทั้ง 4 ชนิด (ม.มู.อ. 1/2/27)
5 หมายรู้ปฐวีโดยความเป็นปฐวี ในที่นี้หมายถึงหมายรู้แผ่นดินนั้นด้วยสัญญาที่วิปริตคือกำหนดให้ต่าง
ออกไปจากความเป็นจริงโดยประการต่าง ๆ ด้วยกิเลสเป็นเหตุเนิ่นช้า คือ ตัณหา มานะและทิฏฐิ ที่มีกำลัง
(ม.มู.อ. 1/2/28)
6 กำหนดหมายซึ่งปฐวี หมายถึงกำหนดหมายด้วยตัณหา มานะ และทิฏฐิว่า 'เราเป็นดิน ดินเป็นของเรา,
คนอื่นเป็นดิน ดินเป็นของคนอื่น หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึงกำหนดหมายด้วยอำนาจตัณหาให้เกิดฉันทราคะ
ติดใจในผมเป็นต้นจนถึงตั้งความปรารถนาว่า 'ด้วยศีลหรือพรหมจรรย์นี้ ขอให้เรามีผมนุ่มดำสนิทดี,
กำหนดหมายด้วยอำนาจมานะว่า 'เราดีกว่า เราเสมอกัน หรือเราด้อยกว่า' และกำหนดหมายด้วยอำนาจ
ทิฏฐิ คือ ยึดมั่นว่าผมเป็นชีวะ โดยนัยว่า 'ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น' (ม.มู.อ.1/2/28-30)
7 กำหนดหมายในปฐวี หมายถึงกำหนดหมายด้วยอำนาจทิฏฐิว่า "มีเราอยู่ในดิน หรือเรามีปลิโพธิในดิน
มีผู้อื่นอยู่ในดิน หรือผู้อื่นมีปลิโพธในดิน" ตามนัยที่ว่า 'พิจารณาเห็นอัตตาในรูปเป็นต้น(ดู ขุ.ป.
31/316/210) กำหนดหมายนอกปฐวี หมายถึงกำหนดหมายด้วยอำนาจทิฏฐิว่า ตนหรือคนอื่นพร้อม
ทั้งสรรพสิ่งล้วนแต่เกิดจากดินแต่มิใช่ดินตามลัทธิพรหมัณฑวาท (ลัทธิที่เชื่อว่าโลกเกิดจากพรหม)ลัทธิ
อณุกวาท (ลัทธิที่เชื่อว่าโลกประกอบด้วยอณู) หรือลัทธิอิสสรวาท (ลัทธิที่เชื่อว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้างโลก)
แล้วเกิดตัณหา มานะในตน และบุคคลอื่นตลอดถึงสรรพสิ่งนั้น (ม.มู.อ. 1/2/30,ม.มู.ฏีกา1/2/92-93)
8 ยินดีปฐวี หมายถึงเพลิดเพลินยินดีติดใจปฐวีด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ ความยินดีปฐวีนั่นเองชื่อว่ายินดี
ทุกข์ สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า 'ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า 'ผู้ใดยินดีปฐวีธาตุผู้นั้นยินดีทุกข์
ผู้ใดยินดีทุกข์ ผู้นั้นไม่พ้นไปจากทุกข์' (ม.มู.อ. 1/2/31)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า:2 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 1. มูลปริยายสูตร

ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า 'เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้1'
หมายรู้อาโป(น้ำ)โดยความเป็นอาโป ครั้นหมายรู้อาโปโดยความเป็นอาโปแล้ว
กำหนดหมายซึ่งอาโป กำหนดหมายในอาโป กำหนดหมายนอกอาโป กำหนด
หมายอาโปว่าเป็นของเรา ยินดีอาโป
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า 'เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้'
หมายรู้เตโช(ไฟ)โดยความเป็นเตโช ครั้นหมายรู้เตโชโดยความเป็นเตโชแล้ว
กำหนดหมายซึ่งเตโช กำหนดหมายในเตโช กำหนดหมายนอกเตโช กำหนด
หมายเตโชว่าเป็นของเรา ยินดีเตโช
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า 'เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้'
หมายรู้วาโย(ลม)โดยความเป็นวาโย ครั้นหมายรู้วาโยโดยความเป็นวาโยแล้ว
กำหนดหมายซึ่งวาโย กำหนดหมายในวาโย กำหนดหมายนอกวาโย กำหนด
หมายวาโยว่าเป็นของเรา ยินดีวาโย
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า 'เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้'

เชิงอรรถ :
1ไม่ได้กำหนดรู้ หมายถึงไม่ได้กำหนดรู้ด้วยปริญญา 3 ประการ คือ (1) ญาตปริญญา ได้แก่ รู้ว่า 'นี้เป็น
ปฐวีธาตุภายใน นี้เป็นปฐวีธาตุภายนอก นี้เป็นลักษณะ กิจ เหตุเกิด และที่เกิดแห่งปฐวีธาตุ' หรือได้แก่
กำหนดนามและรูป (2) ตีรณปริญญา ได้แก่ พิจารณาเห็นว่า 'ปฐวีธาตุมีอาการ 40 คือ อาการไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ เป็นโรค' เป็นต้น หรือได้แก่ พิจารณากลาปะ (ความเป็นกลุ่มก้อน)เป็นต้น พิจารณาอนุโลมญาณ
เป็นที่สุด (3) ปหานปริญญา ได้แก่ เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนั้นแล้ว จึงละฉันทราคะ (ความกำหนัดด้วย
อำนาจความพอใจ) ในปฐวีธาตุด้วยอรหัตตผล หรือได้แก่ ญาณในอริยมรรค
เพราะปริญญา 3 ประการนี้ไม่มีแก่ปุถุชน เขาจึงกำหนดหมายและยินดีปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ
และวาโยธาตุ (ม.มู.อ. 1/2/31-34)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :3 }