เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 1. มูลปริยายสูตร

กำหนดภูมิตามนัยที่ 1 ว่าด้วยปุถุชน

[2] "ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชน1ในโลกนี้ผู้ยังไม่ได้สดับ ไม่ได้พบพระอริยะ2
ทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ
ไม่ได้พบสัตบุรุษ3ทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำใน
ธรรมของสัตบุรุษ หมายรู้ปฐวี4(ดิน)โดยความเป็นปฐวี ครั้นหมายรู้ปฐวีโดย
ความเป็นปฐวี5แล้ว กำหนดหมายซึ่งปฐวี6 กำหนดหมายในปฐวี กำหนดหมาย
นอกปฐวี7 กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของเรา ยินดีปฐวี8

เชิงอรรถ :
1 ปุถุชน หมายถึงคนที่ยังมีกิเลสหนา ที่เรียกเช่นนี้เพราะบุคคลประเภทนี้ยังมีเหตุก่อให้เกิดกิเลสอย่างหนา
นานัปการ ปุถุชนมี 2 ประเภท คือ (1) อันธปุถุชน คนที่ไม่ได้รับการศึกษาอบรมทางจิต(2) กัลยาณ-
ปุถุชน คนที่ได้รับการศึกษาอบรมทางจิตแล้ว (ม.มู.อ. 1/2/22, ที.สี.อ. 1/7/58-59)
2 พระอริยะ หมายถึงพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระพุทธสาวก ที่ชื่อว่าพระอริยะเพราะเป็นผู้
ไกลจากกิเลส ไม่ดำเนินไปในทางเสื่อม ดำเนินไปแต่ในทางเจริญ เป็นผู้ที่ชาวโลกและเทวโลกควรดำเนินตาม
(ม.มู.อ. 1/2/22)
3 สัตบุรุษ โดยทั่วไป หมายถึงคนกตัญญูกตเวที เป็นนักปราชญ์ เป็นกัลยาณมิตร เป็นผู้มีความภักดีมั่นคง
กระทำการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ด้วยความเต็มใจ แต่ในที่นี้ หมายถึงพระพุทธเจ้าพระปัจเจกพุทธเจ้า
และพระพุทธสาวก (ขุ.ชา. (แปล) 27/78-79/608, ม.มู.อ. 1/2/22)
4 ปฐวี มี 4 ชนิด คือ (1) ลักขณปฐวี เป็นสิ่งที่แข็งกระด้าง หยาบเฉพาะตนในตัวมันเอง(2) สสัมภารปฐวี
เป็นส่วนแห่งอวัยวะมีผมเป็นต้น และวัตถุภายนอกมีโลหะเป็นต้น พร้อมทั้งคุณสมบัติมีสีเป็นต้น
(3) อารัมมณปฐวี เป็นปฐวีธาตุที่นำมากำหนดเป็นอารมณ์ของปฐวีกสิณ นิมิตตปฐวี ก็เรียก
(4) สัมมติปฐวี เป็นปฐวีธาตุที่ปฐวีเทวดามาเกิดในเทวโลกด้วยอำนาจปฐวีกสิณและฌานในที่นี้ ปฐวี
หมายถึงทั้ง 4 ชนิด (ม.มู.อ. 1/2/27)
5 หมายรู้ปฐวีโดยความเป็นปฐวี ในที่นี้หมายถึงหมายรู้แผ่นดินนั้นด้วยสัญญาที่วิปริตคือกำหนดให้ต่าง
ออกไปจากความเป็นจริงโดยประการต่าง ๆ ด้วยกิเลสเป็นเหตุเนิ่นช้า คือ ตัณหา มานะและทิฏฐิ ที่มีกำลัง
(ม.มู.อ. 1/2/28)
6 กำหนดหมายซึ่งปฐวี หมายถึงกำหนดหมายด้วยตัณหา มานะ และทิฏฐิว่า 'เราเป็นดิน ดินเป็นของเรา,
คนอื่นเป็นดิน ดินเป็นของคนอื่น หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึงกำหนดหมายด้วยอำนาจตัณหาให้เกิดฉันทราคะ
ติดใจในผมเป็นต้นจนถึงตั้งความปรารถนาว่า 'ด้วยศีลหรือพรหมจรรย์นี้ ขอให้เรามีผมนุ่มดำสนิทดี,
กำหนดหมายด้วยอำนาจมานะว่า 'เราดีกว่า เราเสมอกัน หรือเราด้อยกว่า' และกำหนดหมายด้วยอำนาจ
ทิฏฐิ คือ ยึดมั่นว่าผมเป็นชีวะ โดยนัยว่า 'ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น' (ม.มู.อ.1/2/28-30)
7 กำหนดหมายในปฐวี หมายถึงกำหนดหมายด้วยอำนาจทิฏฐิว่า "มีเราอยู่ในดิน หรือเรามีปลิโพธิในดิน
มีผู้อื่นอยู่ในดิน หรือผู้อื่นมีปลิโพธในดิน" ตามนัยที่ว่า 'พิจารณาเห็นอัตตาในรูปเป็นต้น(ดู ขุ.ป.
31/316/210) กำหนดหมายนอกปฐวี หมายถึงกำหนดหมายด้วยอำนาจทิฏฐิว่า ตนหรือคนอื่นพร้อม
ทั้งสรรพสิ่งล้วนแต่เกิดจากดินแต่มิใช่ดินตามลัทธิพรหมัณฑวาท (ลัทธิที่เชื่อว่าโลกเกิดจากพรหม)ลัทธิ
อณุกวาท (ลัทธิที่เชื่อว่าโลกประกอบด้วยอณู) หรือลัทธิอิสสรวาท (ลัทธิที่เชื่อว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้างโลก)
แล้วเกิดตัณหา มานะในตน และบุคคลอื่นตลอดถึงสรรพสิ่งนั้น (ม.มู.อ. 1/2/30,ม.มู.ฏีกา1/2/92-93)
8 ยินดีปฐวี หมายถึงเพลิดเพลินยินดีติดใจปฐวีด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ ความยินดีปฐวีนั่นเองชื่อว่ายินดี
ทุกข์ สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า 'ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า 'ผู้ใดยินดีปฐวีธาตุผู้นั้นยินดีทุกข์
ผู้ใดยินดีทุกข์ ผู้นั้นไม่พ้นไปจากทุกข์' (ม.มู.อ. 1/2/31)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า:2 }