เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [2. สีหนาทวรรค] 4. จูฬทุกขักขันธสูตร

พวกนิครนถ์ตอบว่า 'ท่านพระโคดม ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น'
ตถาคตถามว่า 'พวกท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร พระเจ้าพิมพิสาร
จอมทัพแคว้นมคธไม่ทรงเคลื่อนไหวพระวรกาย ไม่มีพระดำรัส สามารถเสวยสุข
โดยส่วนเดียวอยู่ตลอด 6 คืน 6 วัน ... 5 คืน 5 วัน ... 4 คืน 4 วัน ...
3 คืน 3 วัน ... 2 คืน 2 วัน พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพแคว้นมคธไม่ทรง
เคลื่อนไหวพระวรกาย ไม่มีพระดำรัส สามารถเสวยสุขโดยส่วนเดียวอยู่ตลอด 1
คืน 1 วันได้หรือ'
พวกนิครนถ์ตอบว่า 'ท่านพระโคดม ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น'
ตถาคตถามว่า 'เราไม่เคลื่อนไหวกาย ไม่พูด สามารถเสวยสุขโดยส่วนเดียว
อยู่ตลอด 1 คืน 1 วัน ... 2 คืน 2 วัน ... 3 คืน 3 วัน ... 4 คืน 4
วัน ... 5 คืน 5 วัน ... 6 คืน 6 วัน เราไม่เคลื่อนไหวกาย ไม่พูด
สามารถเสวยสุขโดยส่วนเดียวอยู่ตลอด 7 คืน 7 วัน พวกท่านเข้าใจความข้อ
นั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจะอยู่เป็นสุขกว่ากัน พระเจ้าพิมพิสาร
จอมทัพแคว้นมคธหรือเราเอง'
พวกนิครนถ์ตอบว่า 'เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านพระโคดมเท่านั้น อยู่เป็นสุขกว่า
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพแคว้นมคธ"
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะทรงมีใจ
ยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

จูฬทุกขักขันธสูตรที่ 4 จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [2. สีหนาทวรรค] 5. อนุมานสูตร

5. อนุมานสูตร
ว่าด้วยการเปรียบตนกับผู้อื่น
ธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก

[181] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง ท่านพระมหาโมคคัลลานะ พำนักอยู่ ณ เภสกฬาวัน สถานที่
ให้อภัยแก่หมู่เนื้อ เขตกรุงสุงสุมารคิระ ในแคว้นภัคคะ ณ ที่นั้น ท่านพระมหา-
โมคคัลลานะ ได้เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า "ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย" ภิกษุ
เหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
"ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าภิกษุปวารณาว่า 'ขอท่านจงว่ากล่าวข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ท่านควรว่ากล่าวได้' แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้ว่ายาก มีธรรมที่ทำให้เป็นผู้
ว่ายาก ไม่อดทน ไม่ยอมรับคำพร่ำสอนโดยเคารพ เมื่อเป็นเช่นนั้น เพื่อน
พรหมจารีทั้งหลายย่อมเข้าใจภิกษุนั้นว่าเป็นผู้ไม่ควรว่ากล่าว ไม่ควรพร่ำสอน
และไม่ควรไว้วางใจ
ธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. เป็นผู้มีความปรารถนาที่เป็นบาป ตกอยู่ในอำนาจแห่งความ
ปรารถนาที่เป็นบาป แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีความปรารถนาที่เป็นบาป
ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนาที่เป็นบาปนี้ ก็เป็นธรรมที่
ทำให้เป็นผู้ว่ายาก
2. เป็นผู้ยกตน ข่มผู้อื่น แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ยกตน ข่มผู้อื่นนี้ ก็เป็น
ธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก
3. เป็นผู้มักโกรธ ถูกความโกรธครอบงำแล้ว แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มัก
โกรธ ถูกความโกรธครอบงำแล้วนี้ ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :186 }