เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 2. สัพพาสวสูตร

[15] "ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นอาสวะของภิกษุผู้รู้ ผู้เห็น เราไม่
กล่าวความสิ้นอาสวะของภิกษุผู้ไม่รู้ ผู้ไม่เห็น เรากล่าวความสิ้นอาสวะของภิกษุผู้รู้
ผู้เห็นอะไร (คือ)ผู้รู้ ผู้เห็นโยนิโสมนสิการ1 และอโยนิโสมนสิการ2 เมื่อภิกษุมนสิการ
โดยไม่แยบคาย อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่
เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ เมื่อภิกษุมนสิการโดยแยบคาย อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิด
ย่อมไม่เกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป
[16] ภิกษุทั้งหลาย อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยทัสสนะ3ก็มี อาสวะทั้งหลาย
ที่ต้องละด้วยการสังวร4ก็มี อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยการใช้สอยก็มี อาสวะทั้งหลาย
ที่ต้องละด้วยการอดกลั้นก็มี อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยการเว้นก็มี อาสวะทั้งหลาย
ที่ต้องละด้วยการบรรเทาก็มี อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยการเจริญก็มี

อาสวะที่ต้องละด้วยทัสสนะ

[17] อาสวะที่ต้องละด้วยทัสสนะ เป็นอย่างไร
คือ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ยังไม่ได้สดับ ไม่ได้พบพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรม
ของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้พบสัตบุรุษทั้งหลาย
ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ไม่รู้ทั่วถึง
ธรรมที่ควรมนสิการ ไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ เขาเมื่อไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ควร
มนสิการ เมื่อไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ย่อมมนสิการถึงธรรมที่ไม่ควร
มนสิการ ไม่มนสิการถึงธรรมที่ควรมนสิการ

เชิงอรรถ :
1 โยนิโสมนสิการ หมายถึงการทำไว้ในใจโดยถูกอุบาย โดยถูกทาง กล่าวคือการนึก การน้อมนึก การผูกใจ
การใฝ่ใจ การทำไว้ในใจในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็น
อนัตตา หรือโดยสัจจานุโลมิกญาณ (ม.มู.อ. 1/15/71)
2 อโยนิโสมนสิการ หมายถึงการทำไว้ในใจโดยไม่ถูกอุบาย โดยไม่ถูกทาง กล่าวคือการทำไว้ในใจในสิ่งที่ไม่
เที่ยงว่าเที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา หรือการนึก การน้อมนึก การผูกใจ
การใฝ่ใจ การทำไว้ในใจถึงความคิดโดยนัยที่กลับกันกับสัจธรรม (ม.มู.อ. 1/15/71)
3 ทัสสนะ หมายถึงโสดาปัตติมรรค (ม.มู.อ. 1/21/81, ม.มู.ฏีกา 1/16/190)
4 สังวร เป็นชื่อของสติ หมายถึงการระวังการปิดการกั้น (ม.มู. ฏีกา 1/16/191) และดู องฺ.ฉกฺก. (แปล)
22/58/547

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :18 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 2. สัพพาสวสูตร

ธรรมที่ไม่ควรมนสิการซึ่งปุถุชนมนสิการ เป็นอย่างไร
คือ เมื่อปุถุชนมนสิการถึงธรรมเหล่าใด กามาสวะ1ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น
ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ ภวาสวะ2ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดแล้วย่อมเจริญ
และอวิชชาสวะ3ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ เหล่านี้คือธรรมที่
ไม่ควรมนสิการซึ่งปุถุชนมนสิการ
ธรรมที่ควรมนสิการซึ่งปุถุชนไม่มนสิการ เป็นอย่างไร
คือ เมื่อปุถุชนมนสิการถึงธรรมเหล่าใด กามาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น
ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป ภวาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป
และอวิชชาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป เหล่านี้คือธรรม
ที่ควรมนสิการซึ่งปุถุชนไม่มนสิการ
เพราะปุถุชนนั้นมนสิการถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ไม่มนสิการถึงธรรมที่ควร
มนสิการ อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว
ย่อมเจริญ
[18] ปุถุชนนั้นมนสิการโดยไม่แยบคายอย่างนี้ว่า 'ในอดีตกาลยาวนาน
เราได้มีแล้ว หรือมิได้มีแล้วหนอ เราได้เป็นอะไรมาหนอ เราได้เป็นอย่างไรมาหนอ
เราได้เป็นอะไรแล้วจึงมาเป็นอะไรอีกหนอ ในอนาคตกาลยาวนาน เราจักมีหรือจัก
ไม่มีหนอ เราจักเป็นอะไรหนอ เราจักเป็นอย่างไรหนอ เราจักเป็นอะไรแล้วไปเป็น
อะไรอีกหนอ' หรือว่าบัดนี้ มีความสงสัยภายในตน ปรารภปัจจุบันกาลกล่าวว่า
'เรามีอยู่หรือไม่หนอ เราเป็นอะไรหนอ เราเป็นอย่างไรหนอ สัตว์นี้มาจากไหนหนอ
และเขาจักไปไหนกันหนอ'

เชิงอรรถ :
1 กามาสวะ หมายถึงความกำหนัดในกามคุณ 5 (ม.มู.อ. 1/17/74)
2 ภวาสวะ หมายถึงความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในรูปภพและอรูปภพ ความติดใจในฌานที่สหรคต
ด้วยสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ รวมทั้งทิฏฐาสวะ (ม.มู.อ. 1/17/74)
3 อวิชชาสวะ หมายถึงความไม่รู้ในอริยสัจ 4 (ม.มู.อ. 1/17/74)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :19 }