เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 2. สัพพาสวสูตร

[15] "ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นอาสวะของภิกษุผู้รู้ ผู้เห็น เราไม่
กล่าวความสิ้นอาสวะของภิกษุผู้ไม่รู้ ผู้ไม่เห็น เรากล่าวความสิ้นอาสวะของภิกษุผู้รู้
ผู้เห็นอะไร (คือ)ผู้รู้ ผู้เห็นโยนิโสมนสิการ1 และอโยนิโสมนสิการ2 เมื่อภิกษุมนสิการ
โดยไม่แยบคาย อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่
เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ เมื่อภิกษุมนสิการโดยแยบคาย อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิด
ย่อมไม่เกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป
[16] ภิกษุทั้งหลาย อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยทัสสนะ3ก็มี อาสวะทั้งหลาย
ที่ต้องละด้วยการสังวร4ก็มี อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยการใช้สอยก็มี อาสวะทั้งหลาย
ที่ต้องละด้วยการอดกลั้นก็มี อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยการเว้นก็มี อาสวะทั้งหลาย
ที่ต้องละด้วยการบรรเทาก็มี อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยการเจริญก็มี

อาสวะที่ต้องละด้วยทัสสนะ

[17] อาสวะที่ต้องละด้วยทัสสนะ เป็นอย่างไร
คือ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ยังไม่ได้สดับ ไม่ได้พบพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรม
ของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้พบสัตบุรุษทั้งหลาย
ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ไม่รู้ทั่วถึง
ธรรมที่ควรมนสิการ ไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ เขาเมื่อไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ควร
มนสิการ เมื่อไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ย่อมมนสิการถึงธรรมที่ไม่ควร
มนสิการ ไม่มนสิการถึงธรรมที่ควรมนสิการ

เชิงอรรถ :
1 โยนิโสมนสิการ หมายถึงการทำไว้ในใจโดยถูกอุบาย โดยถูกทาง กล่าวคือการนึก การน้อมนึก การผูกใจ
การใฝ่ใจ การทำไว้ในใจในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็น
อนัตตา หรือโดยสัจจานุโลมิกญาณ (ม.มู.อ. 1/15/71)
2 อโยนิโสมนสิการ หมายถึงการทำไว้ในใจโดยไม่ถูกอุบาย โดยไม่ถูกทาง กล่าวคือการทำไว้ในใจในสิ่งที่ไม่
เที่ยงว่าเที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา หรือการนึก การน้อมนึก การผูกใจ
การใฝ่ใจ การทำไว้ในใจถึงความคิดโดยนัยที่กลับกันกับสัจธรรม (ม.มู.อ. 1/15/71)
3 ทัสสนะ หมายถึงโสดาปัตติมรรค (ม.มู.อ. 1/21/81, ม.มู.ฏีกา 1/16/190)
4 สังวร เป็นชื่อของสติ หมายถึงการระวังการปิดการกั้น (ม.มู. ฏีกา 1/16/191) และดู องฺ.ฉกฺก. (แปล)
22/58/547

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :18 }