เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [2. สีหนาทวรรค] 3. มหาทุกขักขันธสูตร

คุณ โทษ และการสลัดออกไปจากเวทนา

[173] ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่า เป็นคุณแห่งเวทนาทั้งหลาย
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุ
ปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ในสมัยใด ภิกษุสงัดจาก
กามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิด
จากวิเวกอยู่ ในสมัยนั้น เธอไม่คิดมุ่งเบียดเบียนตน ไม่คิดมุ่งเบียดเบียนผู้อื่น
ทั้งไม่คิดมุ่งเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ในสมัยนั้น เธอจึงเสวยเวทนาซึ่งไม่มีการเบียดเบียน
นั่นแล เรากล่าวว่าความไม่มุ่งเบียดเบียนกัน เป็นคุณแห่งเวทนาทั้งหลาย
อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานที่มีความ
ผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข
อันเกิดจากสมาธิอยู่ ในสมัยใด เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌาน
ฯลฯ ในสมัยนั้น เธอย่อมไม่คิดมุ่งเบียดเบียนตน ฯลฯ เรากล่าวว่าความไม่คิด
มุ่งเบียดเบียนกัน เป็นคุณแห่งเวทนาทั้งหลาย
อีกประการหนึ่ง เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า 'ผู้มีอุเบกขา
มีสติ อยู่เป็นสุข' ในสมัยใด เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา ฯลฯ ในสมัยนั้น
เธอย่อมไม่คิดมุ่งเบียดเบียนตน ฯลฯ เรากล่าวว่าความไม่คิดมุ่งเบียดเบียนกัน
เป็นคุณแห่งเวทนาทั้งหลาย
อีกประการหนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไป
ก่อนแล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
ในสมัยใด เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ภิกษุ
บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ ในสมัยนั้น เธอย่อมไม่คิดมุ่งเบียดเบียนตน ไม่คิดมุ่ง
เบียดเบียนผู้อื่น ทั้งไม่คิดมุ่งเบียดเบียนทั้ง 2 ฝ่าย
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าความไม่คิดมุ่งเบียดเบียนกัน เป็นคุณแห่งเวทนา
ทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :175 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [2. สีหนาทวรรค] 3. มหาทุกขักขันธสูตร

[174] ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่า เป็นโทษแห่งเวทนาทั้งหลาย
คือ การที่เวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา นี้ชื่อว่า
โทษแห่งเวทนาทั้งหลาย
อะไรเล่า เป็นการสลัดออกไปจากเวทนาทั้งหลาย
คือ การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในเวทนาทั้งหลายได้ นี้ชื่อว่าการ
สลัดออกไปจากเวทนาทั้งหลาย
สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งไม่รู้ชัดคุณแห่งเวทนาทั้งหลายว่าเป็นคุณ
ไม่รู้ชัดโทษแห่งเวทนาทั้งหลายว่าเป็นโทษ และไม่รู้ชัดการสลัดออกไปจากเวทนา
ทั้งหลายว่าเป็นการสลัดออกไปตามความเป็นจริงอย่างนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่พวก
เขาเหล่านั้นจักรอบรู้เวทนาทั้งหลายได้เอง หรือจักชักชวนผู้อื่นเพื่อให้รู้อย่างนั้น
และผู้ปฏิบัติตามแล้วก็จักรอบรู้เวทนาทั้งหลายได้
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งรู้ชัดคุณแห่งเวทนา
ทั้งหลายว่าเป็นคุณ รู้ชัดโทษแห่งเวทนาทั้งหลายว่าเป็นโทษ และรู้ชัดการสลัดออก
ไปจากเวทนาทั้งหลายว่าเป็นการสลัดออกไปตามความเป็นจริงอย่างนั้น เป็นไปได้
ที่พวกเขาเหล่านั้นจักรอบรู้เวทนาทั้งหลายได้เอง หรือจักชักชวนผู้อื่นเพื่อให้รู้อย่าง
นั้น และผู้ปฏิบัติตามแล้วก็จักรอบรู้เวทนาทั้งหลายได้"
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มหาทุกขักขันธสูตรที่ 3 จบ