เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [2. สีหนาทวรรค] 2. มหาสีหนาทสูตร

ซึ่งถูกลมพัดแล้วก็เหี่ยวแห้งไป เปรียบเหมือนผลน้ำเต้าขมที่ถูกตัดแต่ยังอ่อน ถูกลม
และแดดแล้ว ย่อมเหี่ยวแห้งไปฉะนั้น เพราะเรามีอาหารน้อยนั่นเอง เรานั้นคิดว่า
'จักลูบหนังท้อง' แต่คลำถูกกระดูกสันหลัง คิดว่า 'จักลูบกระดูกสันหลัง' แต่คลำ
ถูกหนังท้อง หนังท้องของเราติดกระดูกสันหลัง เรานั้นคิดว่า 'จะถ่ายอุจจาระหรือ
ปัสสาวะ' ก็ซวนเซล้มลง ณ ที่นั้นนั่นเอง เราเมื่อจะทำร่างกายให้สบายก็ลูบตัว
ด้วยฝ่ามือ เมื่อเราลูบตัวด้วยฝ่ามือ ขนทั้งหลายซึ่งมีรากเน่าก็หลุดร่วงจากกาย
เพราะเรามีอาหารน้อยนั่นเอง
[159] สารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
'ความบริสุทธิ์มีได้เพราะอาหาร' พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า 'พวกเราดำรงชีวิตอยู่
ด้วยเมล็ดถั่วเขียว ฯลฯ พวกเราดำรงชีวิตอยู่ด้วยเมล็ดงา ฯลฯ พวกเราดำรงชีวิตอยู่
ด้วยข้าวสาร' พวกเขาเคี้ยวกินข้าวสารบ้าง ปลายข้าวบ้าง ดื่มน้ำข้าวบ้าง บริโภค
ข้าวสารที่แปรรูปเป็นชนิดต่าง ๆ บ้าง แต่เรารู้ตัวว่า 'กินข้าวสารเมล็ดเดียว
เท่านั้นเป็นอาหาร' เธอคงจะคิดอย่างนี้ว่า 'สมัยนั้น เมล็ดข้าวสารคงจะใหญ่เป็นแน่'
แต่เธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น แม้ในกาลนั้น เมล็ดข้าวสารก็มีขนาดเท่าในบัดนี้ เมื่อเรา
กินข้าวสารเมล็ดเดียวเท่านั้นเป็นอาหาร ร่างกายก็ซูบผอมเป็นอย่างยิ่ง อวัยวะ
น้อยใหญ่ของเราเปรียบเหมือนเถาวัลย์ที่มีข้อมากและมีข้อดำ เพราะเรามีอาหารน้อย
นั่นเอง ตะโพกของเราเปรียบเหมือนรอยเท้าอูฐ กระดูกสันหลังขึ้นเป็นปุ่ม ๆ
เหมือนเถาสะบ้า กระดูกซี่โครงเหลื่อมขึ้นเหลื่อมลงเหมือนกลอนศาลาเก่าเหลื่อม
กันฉะนั้น ดวงตากลวงลึกเข้าไปในเบ้าตา ฯลฯ เปรียบเหมือนน้ำเต้าขม ฯลฯ'
เรานั้นคิดว่า 'จักลูบหนังท้อง ฯลฯ จักถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ฯลฯ เราเมื่อ
จะทำร่างกายให้สบายก็ลูบตัวด้วยฝ่ามือ เมื่อเราลูบตัวด้วยฝ่ามือ ขนทั้งหลายซึ่ง
มีรากเน่าก็หลุดร่วงจากกาย เพราะเรามีอาหารน้อยนั่นเอง
เรามิได้บรรลุญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์
แม้ด้วยการปฏิบัติอันประเสริฐนั้น ด้วยปฏิปทานั้น และด้วยการทรมานตนที่ทำได้
ยากนั้นเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุยังมิได้บรรลุปัญญาอันประเสริฐนี้ ซึ่งเรา
บรรลุแล้ว เป็นเครื่องนำออกคือนำสัตว์ออกไปจากทุกข์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ
สำหรับบุคคลผู้ปฏิบัติตามธรรมนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :162 }