เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [2. สีหนาทวรรค] 2. มหาสีหนาทสูตร

3. เราเป็นผู้ประพฤติรังเกียจ(บาป) และเป็นผู้ประพฤติรังเกียจบาป
อย่างยอดเยี่ยม
4. เราเป็นผู้ประพฤติสงัด และเป็นผู้ประพฤติสงัดอย่างยอดเยี่ยม

การบำเพ็ญตบะ

บรรดาพรหมจรรย์มีองค์ 4 นั้น พรหมจรรย์ในการบำเพ็ญตบะของเรา คือ
เราเคยเป็นอเจลก(ประพฤติเปลือยกาย) ไม่มีมารยาท เลียมือ เขาเชิญให้ไปรับ
อาหารก็ไม่ไป เขาเชิญให้หยุดรับอาหารก็ไม่หยุด ไม่รับอาหารที่เขาแบ่งไว้ ไม่รับ
อาหารที่เขาทำเจาะจง ไม่ยินดีอาหารที่เขาเชิญ เรานั้นไม่รับอาหารจากปากหม้อ
ไม่รับอาหารจากปากภาชนะ ไม่รับอาหารคร่อมธรณีประตู ไม่รับอาหารคร่อม
ท่อนไม้ ไม่รับอาหารคร่อมสาก ไม่รับอาหารของคน 2 คนที่กำลังบริโภคอยู่
ไม่รับอาหารของหญิงมีครรภ์ ไม่รับอาหารของหญิงผู้กำลังให้บุตรดื่มนม ไม่รับ
อาหารของหญิงที่คลอเคลียชาย ไม่รับอาหารที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับอาหารในที่
เลี้ยงสุนัข ไม่รับอาหารในที่มีแมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม ๆ ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ
ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มยาดอง เรานั้นรับอาหารในเรือนหลังเดียว ยังชีพ
ด้วยข้าวคำเดียว รับอาหารในเรือน 2 หลัง ยังชีพด้วยข้าว 2 คำ ฯลฯ
รับอาหารในเรือน 7 หลัง ยังชีพด้วยข้าว 7 คำ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย
1 ใบ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย 2 ใบ ฯลฯ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย
7 ใบ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน 1 วัน กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน 2 วัน ฯลฯ
กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน 7 วัน ถือการบริโภคอาหารตามวาระ 15 วันต่อมื้อ
เช่นนี้ อยู่ด้วยประการอย่างนี้
เรานั้นกินผักดองเป็นอาหาร กินข้าวฟ่างเป็นอาหาร กินลูกเดือยเป็นอาหาร
กินกากข้าวเป็นอาหาร กินสาหร่ายเป็นอาหาร กินรำเป็นอาหาร กินข้าวตังเป็น
อาหาร กินกำยานเป็นอาหาร กินหญ้าเป็นอาหาร กินมูลโคเป็นอาหาร กินเหง้า
และผลไม้ป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นยังชีพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :158 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [2. สีหนาทวรรค] 2. มหาสีหนาทสูตร

เรานั้นนุ่งห่มผ้าป่าน นุ่งห่มผ้าแกมกัน นุ่งห่มผ้าห่อศพ นุ่งห่มผ้าบังสุกุล
นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้ นุ่งห่มหนังเสือ นุ่งห่มหนังเสือมีเล็บ นุ่งห่มผ้าคากรอง
นุ่งห่มผ้าเปลือกปอกรอง นุ่งห่มผ้าผลไม้กรอง นุ่งห่มผ้ากัมพลผมมนุษย์ นุ่งห่ม
ผ้ากัมพลขนสัตว์ นุ่งห่มผ้าขนปีกนกเค้า เป็นผู้ถอนผมและหนวด คือถือการถอน
ผมและหนวด ยืนอย่างเดียวไม่ยอมนั่ง เดินกระโหย่ง คือถือการเดินกระโหย่ง
ถือการนอนบนหนาม คือนอนบนที่นอนที่ทำด้วยหนาม ถือการอาบน้ำวันละ 3
ครั้ง1 ถือการย่างและการอบกายหลายรูปแบบเช่นนี้อยู่ด้วยประการอย่างนี้
นี้เป็นพรหมจรรย์ในการบำเพ็ญตบะของเรา

การประพฤติถือสิ่งเศร้าหมอง

[156] บรรดาพรหมจรรย์มีองค์ 4 นั้น พรหมจรรย์ในการประพฤติถือสิ่ง
เศร้าหมองของเราดังนี้ คือ มลทินคือธุลีที่หมักหมมอยู่ในกาย(ของเรา)นับหลายปี
จนเป็นสะเก็ด ตอตะโกที่ตั้งอยู่นับหลายปี มีเปลือกแตกแยกจนเป็นสะเก็ด แม้ฉันใด
มลทินคือธุลีที่หมักหมมอยู่ในกายของเรานับหลายปีจนเกิดเป็นสะเก็ด ก็ฉันนั้น
เหมือนกัน เรานั้นมิได้มีความคิดอย่างนี้ว่า 'ถ้าอย่างไร เราควรปัดละอองธุลีนี้
ด้วยฝ่ามือ หรือคนเหล่าอื่นพึงปัดละอองธุลีนี้ของเราด้วยฝ่ามือ' ความคิดแม้อย่าง
นี้มิได้มีแก่เรา
นี้เป็นพรหมจรรย์ในการประพฤติถือสิ่งเศร้าหมองของเรา

การประพฤติรังเกียจ

บรรดาพรหมจรรย์มีองค์ 4 นั้น พรหมจรรย์ในการประพฤติรังเกียจของเรา
ดังนี้ คือ เรานั้นมีสติก้าวไปข้างหน้า มีสติถอยกลับ ความเอ็นดูของเราปรากฏ
แม้กระทั่งในหยดน้ำว่า 'เราอย่าได้ล้างผลาญสัตว์เล็ก ๆ ที่อยู่ในที่ต่าง ๆ เลย'
นี้เป็นพรหมจรรย์ในการประพฤติรังเกียจของเรา

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ที.สี. (แปล) 9/394-396/164-165

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :159 }