เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [2. สีหนาทวรรค] 2. มหาสีหนาทสูตร

อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็น
พระผู้มีพระภาค'
สุนักขัตตะ โมฆบุรุษจักไม่มีปัญญารู้ธรรมในตถาคตว่า 'แม้เพราะเหตุนี้ พระ
ผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลาย
คนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ ทะลุ
ฝา กำแพง และภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงใน
แผ่นดินเหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้
นั่งขัดสมาธิ เหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์และ
ดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลก
ก็ได้'
สุนักขัตตะ โมฆบุรุษจักไม่มีปัญญารู้ธรรมในตถาคตว่า 'แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้นทรงสดับเสียง 2 ชนิด คือ (1) เสียงทิพย์ (2) เสียงมนุษย์
ทั้งที่อยู่ไกลและอยู่ใกล้ ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์'
สุนักขัตตะ โมฆบุรุษจักไม่มีปัญญารู้ธรรมในตถาคตว่า 'แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงกำหนดรู้ใจของสัตว์และบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมี
ราคะ ก็รู้ว่า 'จิตมีราคะ' หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่า 'จิตปราศจากราคะ' จิตมี
โทสะก็รู้ว่า 'จิตมีโทสะ' หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่า 'จิตปราศจากโทสะ' จิตมีโมหะ
ก็รู้ว่า 'จิตมีโมหะ' หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่า 'จิตปราศจากโมหะ' จิตหดหู่ก็รู้ว่า
'จิตหดหู่' หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่า 'จิตฟุ้งซ่าน' จิตเป็นมหัคคตะก็รู้ว่า 'จิตเป็นมหัคคตะ'
หรือจิตไม่เป็นมหัคคตะก็รู้ว่า 'จิตไม่เป็นมหัคคตะ' จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่า 'จิตมี
จิตอื่นยิ่งกว่า' หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่า 'จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า' จิตเป็นสมาธิ
ก็รู้ว่า 'จิตเป็นสมาธิ' หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่า 'จิตไม่เป็นสมาธิ' จิตหลุดพ้นก็รู้ว่า
'จิตหลุดพ้น' หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่า 'จิตไม่หลุดพ้น'

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :143 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [2. สีหนาทวรรค] 2. มหาสีหนาทสูตร

กำลังของพระตถาคต 10 ประการ

[148] สารีบุตร กำลังของตถาคต1 10 ประการนี้ที่ตถาคตมีแล้ว เป็น
เหตุให้ปฏิญญาฐานะที่องอาจ2 บันลือสีหนาท3 ประกาศพรหมจักร4ในบริษัท5
กำลังของตถาคต 10 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ตถาคตรู้ชัดฐานะ6 โดยเป็นฐานะ และอฐานะโดยเป็นอฐานะใน
โลกนี้ตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดฐานะโดยเป็นฐานะ
และอฐานะโดยเป็นอฐานะตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของ
ตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท
ประกาศพรหมจักรในบริษัท

เชิงอรรถ :
1 ดู องฺ.ฉกฺก. (แปล) 22/64/579, องฺ.ทสก.(แปล) 24/21/43-47.
2 ฐานะที่องอาจ (อาสภะ) อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึงฐานะที่ประเสริฐที่สุด ที่สูงสุด หรือฐานะของ
พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดในปางก่อน
อนึ่ง คำว่า อาสภะ มาจากคำว่า อุสภะ เป็นชื่อโคจ่าฝูงของโคจำนวนมากตั้ง 100 ตัว 1,000 ตัว 100
คอก 1,000 คอก มีสีขาว น่าดู มีกำลังสามารถนำภาระหนักยิ่งไปได้ ยืนหยัดด้วยเท้าทั้ง 4 ไม่หวั่นไหว
ต่อเสียงฟ้าร้องตั้ง 100 ครั้ง พระตถาคตเปรียบเหมือนโคอุสภะ คือ ประทับยืนข่มบริษัททั้ง 8 ได้อย่าง
มั่นคงด้วยพระบาท (ฐานะ) คือ เวสารัชชญาณ 4 ประการ ไม่มีปัจจามิตรใดในโลกและเทวโลกที่สามารถ
ทำให้พระองค์หวั่นไหวได้ (ม.มู.อ. 1/148/347, องฺ.ทสก.อ. 3/21/326)
3 บันลือสีหนาท ในที่นี้หมายถึงตรัสพระวาจาด้วยท่าทีองอาจดังพญาราชสีห์ ไม่ทรงหวั่นเกรงผู้ใด เพราะ
ทรงมั่นพระทัยในศีล สมาธิ ปัญญาของพระองค์ (ม.มู.อ. 1/148/348,ที.สี.ฏีกา 1/403/454)
4 พรหมจักร หมายถึงธรรมจักรอันประเสริฐ ยอดเยี่ยม บริสุทธิ์ มี 2 ประการ คือ (1) ปฏิเวธญาณ ได้แก่
ญาณระดับโลกุตตระ แสดงถึงพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า (2) เทสนาญาณ ได้แก่ ญาณระดับโลกิยะ
แสดงถึงพระมหากรุณาคุณของพระพุทธเจ้า ญาณทั้ง 2 นี้ชื่อว่าโอรสญาณ(ญาณส่วนพระองค์) มีเฉพาะ
พระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น ไม่มีแก่คนทั่วไป (ม.มู.อ. 1/148/348,องฺ.ทสก.อ. 3/21/327)
5 บริษัท หมายถึงหมู่, คณะ, ที่ประชุม ในที่นี้หมายถึงบริษัท 8 คือ (1) ขัตติยบริษัท (2) พราหมณบริษัท
(3) คหบดีบริษัท (4) สมณบริษัท (5) จาตุมหาราชบริษัท (6) ดาวดึงสบริษัท (สวรรค์ชั้นที่ 2 แห่งสวรรค์
6 ชั้น) (7) มารบริษัท (8) พรหมบริษัท (ม.มู.อ. 1/148/348, ที.สี.อ. 403/297, องฺ.ทสก.อ.
3/21/327)
6 ฐานะ ในที่นี้หมายถึงเหตุและปัจจัย ที่เรียกว่า "ฐานะ" เพราะเป็นแดนตั้งขึ้น เกิดขึ้น และเป็นไปแห่งผล
(ม.มู.อ. 1/148/349, องฺ.ทสก.อ. 3/21/328)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :144 }