เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [2. สีหนาทวรรค] 1. จูฬสีหนาทสูตร

พวกท่านพิจารณาเห็นอย่างไรในตนจึงกล่าวอย่างนี้ว่า 'สมณะที่ 1 มีอยู่ในธรรมวินัย
นี้เท่านั้น สมณะที่ 2 มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ 3 มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่
4 ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจากสมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง'
เธอทั้งหลายพึงกล่าวตอบพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนั้น อย่างนี้
ว่า 'ผู้มีอายุทั้งหลาย มีธรรม 4 ประการที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้
ทรงเห็น ทรงเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบตรัสไว้แล้ว ซึ่งเรา
ทั้งหลายพิจารณาเห็น(ว่ามี)ในตน จึงกล่าวอย่างนี้ว่า 'สมณะที่ 1 มีอยู่ใน
ธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ 2 มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ 3 มีอยู่ใน
ธรรมวินัยนี้ สมณะที่ 4 ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจาก
สมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง'
ธรรม 4 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ความเลื่อมใสในศาสดา
2. ความเลื่อมใสในธรรม
3. ความเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล
4. ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตผู้ประพฤติธรรมร่วมกันเป็นที่รักเป็นที่พอใจ
ของเราทั้งหลาย
ธรรม 4 ประการนี้ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ทรงเห็น ทรงเป็น
พระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบตรัสไว้แล้ว ซึ่งเราทั้งหลายพิจารณาเห็น
(ว่ามี)ในตนจึงกล่าวอย่างนี้ว่า 'สมณะที่ 1 มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ 2
มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ 3 มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ 4 ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้
ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจากสมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง'
[141] เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า 'ผู้ใดเป็น
ศาสดาของพวกเรา แม้พวกเราก็มีความเลื่อมใสในศาสดานั้น อะไรเป็นธรรมของ
พวกเรา แม้พวกเราก็มีความเลื่อมใสในธรรมนั้น ข้อใดเป็นศีลของพวกเรา แม้พวก
เราก็เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีลนั้น แม้ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตผู้ประพฤติธรรม
ร่วมกัน ก็เป็นที่รักเป็นที่พอใจของพวกเรา ในข้อนี้มีความแปลกกันอย่างไร มีความ
มุ่งหมายอย่างไร และมีการกระทำต่างกันอย่างไร ระหว่างพวกท่านกับพวกเรา'

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :134 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [2. สีหนาทวรรค] 1. จูฬสีหนาทสูตร

เธอทั้งหลายพึงกล่าวตอบพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนั้น อย่างนี้
ว่า 'ผู้มีอายุทั้งหลาย จุดมุ่งหมาย1มีอย่างเดียว หรือมีหลายอย่าง' พวกอัญเดียรถีย์
ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า 'จุดมุ่งหมายมีอย่างเดียวเท่านั้น
ไม่มีหลายอย่าง'
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า 'จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มีราคะ
(ความกำหนัด) หรือผู้ปราศจากราคะ' พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่าง
ถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า 'จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้ปราศจากราคะ
มิใช่สำหรับผู้มีราคะ'
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า 'จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มีโทสะ
(ความคิดประทุษร้าย) หรือผู้ปราศจากโทส' พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะ
ตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า 'จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้ปราศจาก
โทสะ มิใช่สำหรับผู้มีโทสะ'
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า 'จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มีโมหะ
(ความหลง) หรือผู้ปราศจากโมหะ' พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่างถูก
ต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า 'จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้ปราศจากโมหะ
มิใช่สำหรับผู้มีโมหะ'
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า 'จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มีตัณหา
(ความทะยานอยาก) หรือผู้ปราศจากตัณหา' พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะ
ตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า 'จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้
ปราศจากตัณหา มิใช่สำหรับผู้มีตัณหา'
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า 'จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มี
อุปาทาน(ความยึดมั่น) หรือผู้ปราศจากอุปาทาน' พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อ
จะตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า 'จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้
ปราศจากอุปาทาน มิใช่สำหรับผู้มีอุปาทาน'

เชิงอรรถ :
1 จุดมุ่งหมาย ในที่นี้หมายถึงจุดหมายของความเลื่อมใส ซึ่งแต่ละลัทธิต่างก็มีจุดหมายที่แตกต่างกันไป
และมีเพียงจุดมุ่งหมายเดียวเท่านั้น เช่น พวกพราหมณ์ก็มีพรหมโลกเป็นจุดมุ่งหมาย พวกดาบสก็มี
อาภัสสรพรหมเป็นจุดมุ่งหมาย แต่ในพุทธศาสนานี้มีจุดมุ่งหมายเดียว คืออรหัตตผล (ม.มู.อ. 1/140/329)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :135 }