เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค]
10. มหาสติปัฏฐานสูตร

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

[114] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

1. จิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่า 'จิตมีราคะ'
2. จิตปราศจากราคะ ก็รู้ชัดว่า 'จิตปราศจากราคะ'
3. จิตมีโทสะ ก็รู้ชัดว่า 'จิตมีโทสะ'
4. จิตปราศจากโทสะ ก็รู้ชัดว่า 'จิตปราศจากโทสะ'
5. จิตมีโมหะ ก็รู้ชัดว่า 'จิตมีโมหะ'
6. จิตปราศจากโมหะ ก็รู้ชัดว่า 'จิตปราศจากโมหะ'
7. จิตหดหู่ ก็รู้ชัดว่า 'จิตหดหู่'
8. จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ชัดว่า 'จิตฟุ้งซ่าน'
9. จิตเป็นมหัคคตะ ก็รู้ชัดว่า 'จิตเป็นมหัคคตะ'
10. จิตไม่เป็นมหัคคตะ ก็รู้ชัดว่า 'จิตไม่เป็นมหัคคตะ'
11. จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ชัดว่า 'จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า'
12. จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ชัดว่า 'จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า'
13. จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ชัดว่า 'จิตเป็นสมาธิ'
14. จิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ชัดว่า 'จิตไม่เป็นสมาธิ'
15. จิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ชัดว่า 'จิตหลุดพ้นแล้ว'
16. จิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ชัดว่า 'จิตไม่หลุดพ้น'

ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตภายในอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตภายนอก
อยู่ หรือพิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็น
เหตุเกิดในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในจิตอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรม
เป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในจิตอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า 'จิตมีอยู่' ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ อย่างนี้แล

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค]
10. มหาสติปัฏฐานสูตร

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หมวดนิวรณ์

[115] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ นิวรณ์ 5
ประการอยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ นิวรณ์ 5 ประการอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. เมื่อกามฉันทะภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า 'กามฉันทะภายในของเรามีอยู่'
หรือเมื่อกามฉันทะภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า 'กามฉันทะภายในของเรา
ไม่มี' การเกิดขึ้นแห่งกามฉันทะที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น การละกามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
และกามฉันทะที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
2. เมื่อพยาบาทภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า 'พยาบาทภายในของเรามีอยู่'
หรือเมื่อพยาบาทภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า 'พยาบาทภายในของเรา
ไม่มี' การเกิดขึ้นแห่งพยาบาทที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น การละพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น และพยาบาทที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด
ก็รู้ชัดเหตุนั้น
3. เมื่อถีนมิทธะภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า 'ถีนมิทธะภายในของเรามีอยู่'
หรือเมื่อถีนมิทธะภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า 'ถีนมิทธะภายในของเรา
ไม่มี' การเกิดขึ้นแห่งถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น การละถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น และถีนมิทธะที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด
ก็รู้ชัดเหตุนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :112 }