เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค]
10. มหาสติปัฏฐานสูตร

3. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
4. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้

อุทเทส จบ

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
กายานุปัสสนา
(การพิจารณากาย)
หมวดลมหายใจเข้าออก

[107] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปอยู่ในป่า ไปอยู่ที่โคนไม้ หรือที่เรือนว่าง1 นั่งคู้บัลลังก์2
ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า3 มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า 'เราหายใจเข้ายาว'
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า 'เราหายใจออกยาว'
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า 'เราหายใจเข้าสั้น'
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า 'เราหายใจออกสั้น'
สำเหนียกว่า 'เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า'
สำเหนียกว่า 'เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก'

เชิงอรรถ :
1 เรือนว่าง หมายถึงที่ที่สงัด คือ เสนาสนะ 7 อย่าง เว้นป่า และโคนไม้ ได้แก่ (1) ภูเขา (2) ซอกเขา
(3)ถ้ำในภูเขา (4) ป่าช้า (5) ป่าละเมาะ (6) ที่โล่งแจ้ง (7) ลอมฟาง (ที.ม. (แปล) 10/320/248,
อภิ.วิ. (แปล) 35/508/294)
2 นั่งคู้บัลลังก์ หมายถึงนั่งพับขาเข้าหากันทั้ง 2 ข้าง เรียกว่า นั่งขัดสมาธิ (วิ.อ. 1/165/445, วิสุทฺธิ.
1/295)
3 ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า หมายถึงตั้งสติมุ่งตรงต่อกัมมัฏฐาน (วิ.อ. 1/165/445, วิสุทฺธิ. 1/295)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :102 }