เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค]
10. มหาสติปัฏฐานสูตร

10. มหาสติปัฏฐานสูตร1
ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน สูตรใหญ่

[105] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวกุรุ ชื่อกัมมาสธัมมะ
แคว้นกุรุ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
"ภิกษุทั้งหลาย" ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้
ตรัสเรื่องนี้ว่า

อุทเทส

[106] "ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเดียว2 เพื่อความบริสุทธิ์ของ
เหล่าสัตว์ เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม3
เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน ทางนี้ คือ สติปัฏฐาน4 4 ประการ
สติปัฏฐาน 4 ประการ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
2. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้

เชิงอรรถ :
1 ดูความพิสดารใน ที.ม. (แปล) 10/372-405/301-340
2 ทางสายเดียว ในที่นี้มีความหมาย 4 นัย คือ (1) ทางที่บุคคลผู้ละการเกี่ยวข้องกับหมู่คณะไปประพฤติ
ธรรมอยู่แต่ผู้เดียว (2) ทางสายเดียวที่พระพุทธเจ้าทรงทำให้เกิดขึ้น เป็นทางของบุคคลผู้เดียว คือ
พระผู้มีพระภาค (3) ข้อปฏิบัติในศาสนาเดียว คือพระพุทธศาสนา (4) ทางดำเนินไปสู่จุดหมายเดียว
คือ พระนิพพาน (ที.ม.อ. 2/373/359, ม.มู.อ. 1/106/244)
3 ญายธรรม หมายถึงอริยมรรค (ที.ม.อ. 2/214/197, ม.มู.อ. 1/106/251)
4 สติปัฏฐาน แปลว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ หรือการปฏิบัติมีสติเป็นประธาน (ที.ม.อ. 2/373/368,
ม.มู.อ. 1/106/253, อภิ.วิ.(แปล) 35/355-389/306-327)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :101 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค]
10. มหาสติปัฏฐานสูตร

3. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
4. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้

อุทเทส จบ

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
กายานุปัสสนา
(การพิจารณากาย)
หมวดลมหายใจเข้าออก

[107] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปอยู่ในป่า ไปอยู่ที่โคนไม้ หรือที่เรือนว่าง1 นั่งคู้บัลลังก์2
ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า3 มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า 'เราหายใจเข้ายาว'
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า 'เราหายใจออกยาว'
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า 'เราหายใจเข้าสั้น'
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า 'เราหายใจออกสั้น'
สำเหนียกว่า 'เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า'
สำเหนียกว่า 'เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก'

เชิงอรรถ :
1 เรือนว่าง หมายถึงที่ที่สงัด คือ เสนาสนะ 7 อย่าง เว้นป่า และโคนไม้ ได้แก่ (1) ภูเขา (2) ซอกเขา
(3)ถ้ำในภูเขา (4) ป่าช้า (5) ป่าละเมาะ (6) ที่โล่งแจ้ง (7) ลอมฟาง (ที.ม. (แปล) 10/320/248,
อภิ.วิ. (แปล) 35/508/294)
2 นั่งคู้บัลลังก์ หมายถึงนั่งพับขาเข้าหากันทั้ง 2 ข้าง เรียกว่า นั่งขัดสมาธิ (วิ.อ. 1/165/445, วิสุทฺธิ.
1/295)
3 ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า หมายถึงตั้งสติมุ่งตรงต่อกัมมัฏฐาน (วิ.อ. 1/165/445, วิสุทฺธิ. 1/295)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :102 }