เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [4. อัคคัญญสูตร] เรื่องการประพฤติทุจริตเป็นต้น

แวดวงศูทร

[134] วาเสฏฐะและภารทวาชะ บรรดาสัตว์เหล่านั้น สัตว์ที่เหลือประพฤติ
ตนโหดร้าย ทำงานต่ำต้อย เพราะสัตว์เหล่านั้นประพฤติตนโหดร้าย ทำงานที่ต่ำต้อย
ฉะนั้น คำว่า ‘ศูทร ศูทร’ จึงเกิดขึ้น ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ จึงได้เกิดมีแวดวงศูทรนั้น
ขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้นเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์เหล่าอื่น มีแก่สัตว์พวกเดียวกันเท่านั้น ไม่มี
แก่สัตว์ที่มิใช่พวกเดียวกัน มีโดยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่โดยอธรรม ตามคำโบราณที่
เกี่ยวข้องกับทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก ก็ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชน
ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
[135] วาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยที่กษัตริย์ติเตียนธรรม1ของตน
จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยประสงค์ว่า ‘เราจักเป็นสมณะ’ พราหมณ์
ติเตียนธรรมของตนจึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยประสงค์ว่า ‘เราจักเป็น
สมณะ’ แพศย์ติเตียนธรรมของตนจึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยประสงค์
ว่า ‘เราจักเป็นสมณะ’ แม้ศูทรก็ติเตียนธรรมของตนจึงออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตด้วยประสงค์ว่า ‘เราจักเป็นสมณะ’ จึงได้เกิดมีแวดวงสมณะจากแวดวง
ทั้งสี่นี้ขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้นเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์เหล่าอื่น มีแก่สัตว์พวกเดียวกัน
เท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์ที่มิใช่พวกเดียวกัน มีโดยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่โดยอธรรม ตาม
คำโบราณที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก ก็ธรรมเท่านั้นประเสริฐ
ที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

เรื่องการประพฤติทุจริต เป็นต้น

[136] วาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้กษัตริย์ผู้ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต
มโนทุจริต มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด เพราะ
การชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วจะไปเกิดใน
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก

เชิงอรรถ :
1 ธรรม ในที่นี้หมายถึงอาชีพการงานนั้น ๆ (ที.ปา.อ. 135/57)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :99 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [4. อัคคัญญสูตร] เรื่องการประพฤติทุจริตเป็นต้น

แม้พราหมณ์ ...
แม้แพศย์ ...
แม้ศูทร ...
แม้สมณะผู้ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต มีความเห็นผิด และชักชวน
ผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด เพราะการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็น
ผิดเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
แม้กษัตริย์ผู้ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต มีความเห็นชอบ
และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ เพราะการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรม
ตามความเห็นชอบ หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
แม้พราหมณ์ ...
แม้แพศย์ ...
แม้ศูทร ...
แม้สมณะผู้ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต มีความเห็นชอบ และชักชวน
ผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ เพราะการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความ
เห็นชอบ หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
[137] วาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้กษัตริย์ผู้ประพฤติทั้งกายทุจริตและ
กายสุจริต ทั้งวจีทุจริตและวจีสุจริต ทั้งมโนทุจริตและมโนสุจริต ทั้งมีความเห็นผิด
และมีความเห็นชอบ ทั้งชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและชักชวนผู้อื่นให้
ทำกรรมตามความเห็นชอบ เพราะการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและ
การชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วเขาจะเสวย
ทั้งสุขและทุกข์
แม้พราหมณ์ผู้ประพฤติทั้งกายทุจริตและกายสุจริต ทั้งวจีทุจริตและวจีสุจริต
ทั้งมโนทุจริตและมโนสุจริต ทั้งมีความเห็นผิดและมีความเห็นชอบ ทั้งชักชวนผู้อื่น
ให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ เพราะ
การชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความ
เห็นชอบเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วเขาจะเสวยทั้งสุขและทุกข์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :100 }