เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [4. อัคคัญญสูตร] ความปรากฏแห่งง้วนดิน

สมัยหนึ่ง ครั้นเวลาล่วงเลยมาช้านาน โลกนี้เจริญขึ้น เมื่อโลกกำลังเจริญขึ้น
เหล่าสัตว์ส่วนมากจุติจากพรหมโลกชั้นอาภัสสระมาเป็นอย่างนี้1 นึกคิดอะไรก็สำเร็จ
ได้ตามปรารถนา2 มีปีติเป็นภักษา3 มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจรไปใน
อากาศ อยู่ในวิมานอันงดงาม สถิตอยู่นานแสนนาน

ความปรากฏแห่งง้วนดิน

[120] วาเสฏฐะและภารทวาชะ สมัยนั้น ทั่วทั้งจักรวาลนี้แหละเป็นน้ำ
ทั้งนั้น มืดมนอนธการ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายยังไม่
ปรากฏ กลางคืน กลางวันยังไม่ปรากฏ เดือนหนึ่ง ครึ่งเดือน ฤดูและปีก็ยังไม่
ปรากฏ หญิงชายก็ยังไม่ปรากฏ สัตว์ทั้งหลายปรากฏชื่อแต่เพียงว่า ‘สัตว์’ เท่านั้น
ครั้นเวลาล่วงเลยมาช้านาน เกิดง้วนดินลอยอยู่บนน้ำ ปรากฏแก่สัตว์เหล่านั้น
ดุจน้ำนมที่บุคคลเคี่ยวให้แห้งแล้วทำให้เย็นสนิทจับเป็นฝาอยู่ข้างบน ง้วนดินนั้น
สมบูรณ์ด้วยสี สมบูรณ์ด้วยกลิ่น สมบูรณ์ด้วยรส มีสีเหมือนเนยใสหรือเนยข้น
อย่างดี และมีรสอร่อยเหมือนน้ำผึ้งมิ้มซึ่งปราศจากโทษ4 ต่อมา สัตว์ผู้หนึ่งมีนิสัย
โลภกล่าวว่า ‘ท่านผู้เจริญสิ่งนี้จะเป็นเช่นไร5’ แล้วใช้นิ้วช้อนง้วนดินขึ้นมาลิ้มดู เมื่อ
เขาใช้นิ้วช้อนง้วนดินขึ้นมาลิ้มดูอยู่ รสง้วนดินได้แผ่ซ่านไป เขาจึงเกิดความอยาก
ในรส แม้สัตว์เหล่าอื่นก็พากันถือแบบอย่างสัตว์นั้น จึงใช้นิ้วช้อนง้วนดินขึ้นมาลิ้มดู
เมื่อสัตว์เหล่านั้นใช้นิ้วช้อนง้วนดินขึ้นมาลิ้มดูอยู่ รสง้วนดินก็แผ่ซ่านไป และสัตว์เหล่านั้น
ก็เกิดความอยากในรสขึ้นเช่นเดียวกัน

เชิงอรรถ :
1 มาเป็นอย่างนี้ ในที่นี้หมายถึงมาเกิดเป็นมนุษย์ (ที.ปา.อ. 119/50)
2 นึกคิดอะไรก็สำเร็จได้ตามปรารถนา หมายความว่าสัตว์เหล่านั้นแม้มาเกิดในมนุษยโลกนี้ ก็ยังเป็น
โอปปาติกะ เกิดขึ้นด้วยใจที่บรรลุอุปจารฌานอย่างเดียวกัน (ที.ปา.อ. 119/50,ที.ปา.ฏีกา 119/52)
3 มีปีติเป็นภักษา หมายความว่าแม้อยู่ในมนุษยโลกนี้ก็มีปีติเป็นอาหารเหมือนอยู่ในพรหมโลก(ที.ปา.อ.
119/50)
4 ปราศจากโทษ ในที่นี้หมายถึงไม่มีตัวอ่อนในรัง (ที.ปา.อ. 120/51)
5 สิ่งนี้จะเป็นเช่นไร หมายความว่ารสของง้วนดินนี้จะเป็นเช่นไร (ที.ปา.อ. 120/51)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :89 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [4. อัคคัญญสูตร]
ความปรากฏแห่งดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เป็นต้น

ความปรากฏแห่งดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เป็นต้น

[121] วาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อมา สัตว์เหล่านั้นพากันใช้มือปั้นง้วนดิน
ให้เป็นคำ ๆ เพื่อจะบริโภค เมื่อใด สัตว์เหล่านั้นพากันใช้มือปั้นง้วนดินให้เป็นคำ ๆ
เพื่อบริโภค เมื่อนั้น รัศมีที่ซ่านออกจากร่างกายของสัตว์เหล่านั้นก็หายไป เมื่อรัศมี
ที่ซ่านออกจากร่างกายหายไป ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ก็ปรากฏ เมื่อดวงจันทร์
ดวงอาทิตย์ปรากฏ ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายก็ปรากฏ เมื่อดวงดาวนักษัตรทั้งหลาย
ปรากฏ กลางคืน กลางวันก็ปรากฏ เมื่อกลางคืน กลางวันปรากฏ เดือนหนึ่ง
ครึ่งเดือนก็ปรากฏ เมื่อเดือนหนึ่ง ครึ่งเดือนปรากฏ ฤดูและปีก็ปรากฏ ด้วยเหตุ
เพียงเท่านี้ โลกนี้ จึงได้กลับฟื้นขึ้นอีก
[122] วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมา สัตว์เหล่านั้นเมื่อบริโภคง้วนดิน
มีง้วนดินนั้นเป็นภักษา มีง้วนดินนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นานแสนนาน เมื่อ
บริโภคง้วนดิน มีง้วนดินนั้นเป็นภักษา มีง้วนดินนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นาน
แสนนาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายหยาบขึ้น ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏแตกต่างกัน
สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม บางพวกมีผิวพรรณทราม สัตว์เหล่าใดมีผิวพรรณงาม
สัตว์เหล่านั้นก็ดูหมิ่นสัตว์ที่มีผิวพรรณทรามว่า ‘พวกเรามีผิวพรรณงามกว่าสัตว์
เหล่านั้น สัตว์เหล่านั้นมีผิวพรรณทรามกว่าพวกเรา’ เมื่อสัตว์เหล่านั้นเกิดมีมานะ
ถือตัว เพราะการดูหมิ่นเรื่องผิวพรรณเป็นปัจจัย ง้วนดินจึงหายไป
เมื่อง้วนดินหายไป สัตว์เหล่านั้นจึงประชุมกัน ครั้นแล้วต่างก็พากันโหยหาว่า
‘รสเอ๋ย รสเอ๋ย1’ แม้ทุกวันนี้ก็เหมือนกัน พวกมนุษย์ได้ของมีรสดีบางอย่าง มักกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘รสเอ๋ย รสเอ๋ย’ พวกพราหมณ์พากันนึกได้แต่คำโบราณที่เกี่ยวข้องกับ
ทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกเท่านั้น แต่ไม่รู้เนื้อความแห่งคำนั้นเลย

เชิงอรรถ :
1 รสเอ๋ย รสเอ๋ย เป็นคำรำพึงรำพันว่า ‘รสอร่อยที่เคยบริโภคหายไปแล้ว’ (ที.ปา.อ. 122/54)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :90 }