เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [4. อัคคัญญสูตร] ความบริสุทธิ์แห่งวรรณะ 4

การอภิวาท การต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรม ในพระเจ้าปเสนทิโกศลอยู่
ด้วยประการดังว่ามานี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกระทำการนอบน้อม การอภิวาท
การต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรมนั้นในเราตถาคต ดังที่พวกเจ้าศากยะ
กระทำการนอบน้อม การอภิวาท การต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรม
ในพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์มิได้ทรงกระทำการนอบน้อม การอภิวาท การ
ต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรมนั้น ด้วยทรงดำริว่า ‘พระสมณโคดมมีพระ
ชาติกำเนิดดี เราเองมีชาติกำเนิดไม่ดี พระสมณโคดมทรงแข็งแรง เราเองไม่แข็งแรง
พระสมณโคดมมีผิวพรรณผ่องใส เราเองมีผิวพรรณเศร้าหมอง พระสมณโคดม
เป็นผู้สูงศักดิ์ เราเองเป็นผู้ต่ำศักดิ์’ โดยที่แท้ พระองค์เมื่อจะทรงสักการะธรรม
เคารพธรรม นับถือธรรม บูชาธรรม นอบน้อมธรรม จึงทรงกระทำการนอบน้อม
การอภิวาท การต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรมในเราตถาคตอย่างนี้ โดย
เหตุผลนี้ เธอพึงทราบอย่างนี้ว่า ‘ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และ
โลกหน้า’
[118] วาเสฏฐะและภารทวาชะ เธอทั้งสองมีชาติกำเนิดต่างกัน มีชื่อ
ต่างกัน มีโคตรต่างกัน มีตระกูลต่างกัน ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อมีผู้
ถามว่า ‘ท่านเป็นพวกไหน’ พึงตอบเขาว่า ‘เราเป็นพวกพระสมณศากยบุตร’ ดังนี้เถิด
ผู้ใดแลมีศรัทธาตั้งมั่นในตถาคต เกิดแต่ราก ประดิษฐานมั่นคงที่สมณพราหมณ์
เทพ มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกให้หวั่นไหวไม่ได้ ควรจะเรียกผู้นั้นว่า ‘เป็นบุตร
เป็นโอรส เกิดจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาค เกิดจากพระธรรม อันพระธรรม
เนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพระธรรม’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคำว่า ‘ธรรมกาย’ ก็ดี
‘พรหมกาย’ ก็ดี ‘ธรรมภูต’ ก็ดี ‘พรหมภูต’ ก็ดี ล้วนเป็นชื่อของตถาคต
[119] วาเสฏฐะและภารทวาชะ สมัยหนึ่ง ครั้นเวลาล่วงเลยมาช้านาน
โลกนี้เสื่อม เมื่อโลกกำลังเสื่อม เหล่าสัตว์ส่วนมากไปเกิดที่พรหมโลกชั้นอาภัสสระ
นึกคิดอะไรก็สำเร็จได้ตามปรารถนา มีปีติเป็นภักษา มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย
เที่ยวสัญจรไปในอากาศ อยู่ในวิมานอันงดงาม สถิตอยู่นานแสนนาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :88 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [4. อัคคัญญสูตร] ความปรากฏแห่งง้วนดิน

สมัยหนึ่ง ครั้นเวลาล่วงเลยมาช้านาน โลกนี้เจริญขึ้น เมื่อโลกกำลังเจริญขึ้น
เหล่าสัตว์ส่วนมากจุติจากพรหมโลกชั้นอาภัสสระมาเป็นอย่างนี้1 นึกคิดอะไรก็สำเร็จ
ได้ตามปรารถนา2 มีปีติเป็นภักษา3 มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจรไปใน
อากาศ อยู่ในวิมานอันงดงาม สถิตอยู่นานแสนนาน

ความปรากฏแห่งง้วนดิน

[120] วาเสฏฐะและภารทวาชะ สมัยนั้น ทั่วทั้งจักรวาลนี้แหละเป็นน้ำ
ทั้งนั้น มืดมนอนธการ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายยังไม่
ปรากฏ กลางคืน กลางวันยังไม่ปรากฏ เดือนหนึ่ง ครึ่งเดือน ฤดูและปีก็ยังไม่
ปรากฏ หญิงชายก็ยังไม่ปรากฏ สัตว์ทั้งหลายปรากฏชื่อแต่เพียงว่า ‘สัตว์’ เท่านั้น
ครั้นเวลาล่วงเลยมาช้านาน เกิดง้วนดินลอยอยู่บนน้ำ ปรากฏแก่สัตว์เหล่านั้น
ดุจน้ำนมที่บุคคลเคี่ยวให้แห้งแล้วทำให้เย็นสนิทจับเป็นฝาอยู่ข้างบน ง้วนดินนั้น
สมบูรณ์ด้วยสี สมบูรณ์ด้วยกลิ่น สมบูรณ์ด้วยรส มีสีเหมือนเนยใสหรือเนยข้น
อย่างดี และมีรสอร่อยเหมือนน้ำผึ้งมิ้มซึ่งปราศจากโทษ4 ต่อมา สัตว์ผู้หนึ่งมีนิสัย
โลภกล่าวว่า ‘ท่านผู้เจริญสิ่งนี้จะเป็นเช่นไร5’ แล้วใช้นิ้วช้อนง้วนดินขึ้นมาลิ้มดู เมื่อ
เขาใช้นิ้วช้อนง้วนดินขึ้นมาลิ้มดูอยู่ รสง้วนดินได้แผ่ซ่านไป เขาจึงเกิดความอยาก
ในรส แม้สัตว์เหล่าอื่นก็พากันถือแบบอย่างสัตว์นั้น จึงใช้นิ้วช้อนง้วนดินขึ้นมาลิ้มดู
เมื่อสัตว์เหล่านั้นใช้นิ้วช้อนง้วนดินขึ้นมาลิ้มดูอยู่ รสง้วนดินก็แผ่ซ่านไป และสัตว์เหล่านั้น
ก็เกิดความอยากในรสขึ้นเช่นเดียวกัน

เชิงอรรถ :
1 มาเป็นอย่างนี้ ในที่นี้หมายถึงมาเกิดเป็นมนุษย์ (ที.ปา.อ. 119/50)
2 นึกคิดอะไรก็สำเร็จได้ตามปรารถนา หมายความว่าสัตว์เหล่านั้นแม้มาเกิดในมนุษยโลกนี้ ก็ยังเป็น
โอปปาติกะ เกิดขึ้นด้วยใจที่บรรลุอุปจารฌานอย่างเดียวกัน (ที.ปา.อ. 119/50,ที.ปา.ฏีกา 119/52)
3 มีปีติเป็นภักษา หมายความว่าแม้อยู่ในมนุษยโลกนี้ก็มีปีติเป็นอาหารเหมือนอยู่ในพรหมโลก(ที.ปา.อ.
119/50)
4 ปราศจากโทษ ในที่นี้หมายถึงไม่มีตัวอ่อนในรัง (ที.ปา.อ. 120/51)
5 สิ่งนี้จะเป็นเช่นไร หมายความว่ารสของง้วนดินนี้จะเป็นเช่นไร (ที.ปา.อ. 120/51)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :89 }