เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [3. จักกวัตติสูตร] สมัยที่คนมีอายุขัย 10 ปี

พราหมณ์ และไม่ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ก็จักได้รับการบูชาและได้รับ
การสรรเสริญ ภิกษุทั้งหลาย คนที่เกื้อกูลมารดา เกื้อกูลบิดา เกื้อกูลสมณะ เกื้อกูล
พราหมณ์ และประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ได้รับการบูชาและได้รับการ
สรรเสริญในบัดนี้ ฉันใด ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย 10 ปี มนุษย์ทั้งหลายที่ไม่เกื้อกูล
มารดา ไม่เกื้อกูลบิดา ไม่เกื้อกูลสมณะ ไม่เกื้อกูลพราหมณ์ และไม่ประพฤติอ่อนน้อม
ต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ก็จักได้รับการบูชาและได้รับการสรรเสริญ ฉันนั้น
ในเมื่อมนุษย์ทั้งหลายมีอายุขัย 10 ปี พวกเขาจักไม่มีจิตคิดเคารพยำเกรงว่า
‘แม่’ ว่า ‘ป้า น้า’ ว่า ‘ป้าสะใภ้ น้าสะใภ้’ ว่า ‘ภรรยาของอาจารย์’ หรือว่า
‘ภรรยาของครู’ สัตว์โลกจักถึงความสมสู่ปะปนกันหมด เป็นเสมือน แพะ แกะ ไก่
สุกร สุนัขบ้าน และสุนัขจิ้งจอก ฉะนั้น
ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย 10 ปี มนุษย์เหล่านั้นก็จักเกิดความอาฆาต1อย่าง
แรงกล้า ความพยาบาท2อย่างแรงกล้า ความคิดร้ายแห่งใจอย่างแรงกล้า ความคิด
จะฆ่ากันอย่างแรงกล้า มารดากับบุตรก็ดี บุตรกับมารดาก็ดี บิดากับบุตรก็ดี บุตร
กับบิดาก็ดี พี่ชายน้องชายกับพี่สาวน้องสาวก็ดี พี่สาวน้องสาวกับพี่ชายน้องชายก็ดี
จักเกิดความอาฆาตอย่างแรงกล้า ความพยาบาทอย่างแรงกล้า ความคิดร้ายแห่ง
ใจอย่างแรงกล้า ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า ภิกษุทั้งหลาย นายพรานเนื้อ เห็น
เนื้อเข้า เกิดความอาฆาตอย่างแรงกล้า ความพยาบาทอย่างแรงกล้า ความคิดร้าย
แห่งใจอย่างแรงกล้า ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า ฉันใด ในเมื่อมนุษย์ทั้งหลายมี
อายุขัย 10 ปี มนุษย์เหล่านั้นจักเกิดความอาฆาตอย่างแรงกล้า ความพยาบาท
อย่างแรงกล้า ความคิดร้ายแห่งใจอย่างแรงกล้า ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า
มารดากับบุตรก็ดี บุตรกับมารดาก็ดี บิดากับบุตรก็ดี บุตรกับบิดาก็ดี พี่ชายน้อง

เชิงอรรถ :
1 ความอาฆาต หมายถึงความโกรธที่ทำให้ผูกใจเจ็บ (ที.ปา.อ. 103/39)
2 ความพยาบาท หมายถึงความโกรธที่ทำให้ประโยชน์สุขทั้งของตนทั้งของคนอื่นพินาศ (ที.ปา.อ. 103/39)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :74 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [3. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะ เป็นต้น

ชายกับพี่สาวน้องสาวก็ดี พี่สาวน้องสาวกับพี่ชายน้องชายก็ดี จักเกิดความอาฆาต
อย่างแรงกล้า ความพยาบาทอย่างแรงกล้า ความคิดร้ายแห่งใจอย่างแรงกล้า
ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า ฉันนั้น
[104] ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย 10 ปี จักมีสัตถันตรกัป1
ตลอด 7 วัน มนุษย์เหล่านั้นจักเกิดความเข้าใจในกันและกันว่าเป็นเนื้อ ศัสตรา
ทั้งหลายอันคมกริบจักปรากฏในมือของพวกเขา พวกเขาจักใช้ศัสตราอันคมกริบ
ฆ่ากันเองด้วยเข้าใจว่า ‘นี้เป็นเนื้อ นี้เป็นเนื้อ’
ครั้งนั้น มนุษย์เหล่านั้นบางพวก มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘พวกเราอย่าฆ่าใคร ๆ
และใคร ๆ ก็อย่าฆ่าพวกเรา ทางที่ดี เราควรเข้าไปตามป่าหญ้า สุมทุมพุ่มไม้
ป่าไม้ เกาะกลางแม่น้ำ หรือซอกเขา ใช้รากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหารเลี้ยงชีพ’
พวกเขาจึงพากันเข้าไปตามป่าหญ้า สุมทุมพุ่มไม้ ป่าไม้ เกาะกลางแม่น้ำหรือ
ซอกเขา ใช้รากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหารเลี้ยงชีพอยู่ตลอด 7 วัน เมื่อล่วงไป
7 วัน พวกเขาพากันออกจากป่าหญ้า สุมทุมพุ่มไม้ ป่าไม้ เกาะกลางแม่น้ำ หรือ
ซอกเขา แล้วต่างสวมกอดกันและกัน ขับร้องปลอบใจกันในที่ประชุมว่า ‘ท่านผู้เจริญ
ทั้งหลาย เราพบเห็นกันแล้ว ท่านยังมีชีวิตอยู่ เราพบเห็นกันแล้ว ท่านยังมีชีวิตอยู่’

เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะ เป็นต้น

[105] ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น มนุษย์เหล่านั้นจักปรึกษากันอย่างนี้ว่า
‘พวกเราสูญสิ้นญาติมากมายเช่นนี้ เพราะยึดถืออกุศลธรรมเป็นเหตุ ทางที่ดี พวกเรา
ควรทำกุศล ควรทำกุศลอย่างไรดี ทางที่ดี พวกเราควรงดเว้นจากปาณาติบาต(การ
ฆ่าสัตว์) ควรสมาทานประพฤติกุศลธรรมนี้’ แล้วจึงพากันงดเว้นจากปาณาติบาต

เชิงอรรถ :
1 สัตถันตรกัป แปลว่าอันตรกัปพินาศเพราะศัสตรา เป็นชื่ออันตรกัป (กัประหว่าง) 1 ใน 3 อันตรกัป ซึ่ง
เป็นกัปย่อยของสังวัฎฎกัป(กัปเสื่อม) มักเรียกกันสั้น ๆ ว่ากัปพินาศ อีก 2 กัป คือ (1) ทุพภิกขันตรกัป
(กัปพินาศเพราะข้าวยากหมากแพง) (2) โรคันขันตรกัป (กัปพินาศเพราะโรค) คำว่า กัป ในที่นี้เป็นคำย่อของ
คำว่า “กัปพินาศ” (กปฺปวินาส) (ที.ปา.อ. 104/39, ที.ปา.ฎีกา 104/38)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :75 }