เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [3. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น

ที่มีอายุขัย 5,000 ปี บางพวกก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ 2,500 ปี บางพวกก็มี
อายุขัยถอยลงเหลือ 2,000 ปี
[99] ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย 2,500 ปี อภิชฌา(ความเพ่งเล็ง
อยากได้ของของเขา) และพยาบาท(ความคิดร้าย) ก็แพร่หลาย เมื่ออภิชฌา และ
พยาบาทแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อ
พวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย
2,500 ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ 1,000 ปี
[100] ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย 1,000 ปี มิจฉาทิฏฐิ(ความ
เห็นผิด) ก็แพร่หลาย เมื่อมิจฉาทิฏฐิแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง
มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง
บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย 1,000 ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ 500 ปี
[101] ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย 500 ปี ธรรม 3 ประการ
คือ อธัมมราคะ1 วิสมโลภะ2 และมิจฉาธรรม3 ก็แพร่หลาย เมื่อธรรม 3 ประการ
แพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขา
มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย 500 ปี
บางพวกก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ 250 ปี บางพวกก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ 200 ปี
ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย 250 ปี ธรรมเหล่านี้ คือ ความไม่เกื้อกูลมารดา
ความไม่เกื้อกูลบิดา ความไม่เกื้อกูลสมณะ ความไม่เกื้อกูลพราหมณ์ และการไม่
ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล ก็แพร่หลาย

เชิงอรรถ :
1 อธัมมราคะ แปลว่า ความกำหนัดที่ผิดธรรม หมายถึงความกำหนัดในบุคคลที่ไม่สมควรกำหนัด เช่น
แม่ พ่อ (ที.ปา.อ. 101/38)
2 วิสมโลภะ แปลว่า ความโลภจัด หมายถึงความโลภที่รุนแรงในฐานะแม้ที่ควรจะได้ (ที.ปา.อ. 101/38)
3 มิจฉาธรรม แปลว่า ความกำหนัดผิดธรรมชาติ หมายถึงความกำหนัดที่ชายมีต่อชาย และที่ผู้หญิงมีต่อ
ผู้หญิง (ที.ปา.อ. 101/38)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :72 }