เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [3. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น

ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย 20,000 ปี บุรุษคนหนึ่งถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้
โดยอาการขโมย บุรุษอีกคนหนึ่งจึงกราบทูลกษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วว่า
‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท บุรุษชื่อนี้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการ
ขโมย’ ชื่อว่าได้กระทำการส่อเสียด
[96] ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่
พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็แพร่หลาย เมื่อความขัดสน
แพร่หลาย อทินนาทานก็แพร่หลาย เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ศัสตราก็แพร่หลาย
เมื่อศัสตราแพร่หลาย ปาณาติบาตก็แพร่หลาย เมื่อปาณาติบาตแพร่หลาย มุสาวาท
ก็แพร่หลาย เมื่อมุสาวาทแพร่หลาย ปิสุณาวาจา(การพูดส่อเสียด)ก็แพร่หลาย
เมื่อปิสุณาวาจาแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอย
บ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มี
อายุขัย 20,000 ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ 10,000 ปี
ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย 10,000 ปี มนุษย์บางพวกมีวรรณะดี บางพวกมี
วรรณะไม่ดี พวกที่มีวรรณะไม่ดี ก็เพ่งเล็งพวกที่มีวรรณะดี ประพฤติล่วงละเมิดใน
ภรรยาของคนอื่น
[97] ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่
พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็แพร่หลาย เมื่อความขัดสน
แพร่หลาย อทินนาทานก็แพร่หลาย เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ฯลฯ กาเมสุมิจฉาจาร
(การประพฤติผิดในกาม)ก็แพร่หลาย เมื่อกาเมสุมิจฉาจารแพร่หลาย คนเหล่านั้น
ก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง
มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย 10,000 ปี ก็มีอายุขัยถอยลง
เหลือ 5,000 ปี
[98] ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย 5,000 ปี ธรรม 2 ประการ
คือ ผรุสวาจา(การพูดคำหยาบ) และสัมผัปปลาปะ(การพูดเพ้อเจ้อ)ก็แพร่หลาย
เมื่อธรรม 2 ประการแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อม
ถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :71 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [3. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น

ที่มีอายุขัย 5,000 ปี บางพวกก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ 2,500 ปี บางพวกก็มี
อายุขัยถอยลงเหลือ 2,000 ปี
[99] ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย 2,500 ปี อภิชฌา(ความเพ่งเล็ง
อยากได้ของของเขา) และพยาบาท(ความคิดร้าย) ก็แพร่หลาย เมื่ออภิชฌา และ
พยาบาทแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อ
พวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย
2,500 ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ 1,000 ปี
[100] ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย 1,000 ปี มิจฉาทิฏฐิ(ความ
เห็นผิด) ก็แพร่หลาย เมื่อมิจฉาทิฏฐิแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง
มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง
บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย 1,000 ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ 500 ปี
[101] ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย 500 ปี ธรรม 3 ประการ
คือ อธัมมราคะ1 วิสมโลภะ2 และมิจฉาธรรม3 ก็แพร่หลาย เมื่อธรรม 3 ประการ
แพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขา
มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย 500 ปี
บางพวกก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ 250 ปี บางพวกก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ 200 ปี
ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย 250 ปี ธรรมเหล่านี้ คือ ความไม่เกื้อกูลมารดา
ความไม่เกื้อกูลบิดา ความไม่เกื้อกูลสมณะ ความไม่เกื้อกูลพราหมณ์ และการไม่
ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล ก็แพร่หลาย

เชิงอรรถ :
1 อธัมมราคะ แปลว่า ความกำหนัดที่ผิดธรรม หมายถึงความกำหนัดในบุคคลที่ไม่สมควรกำหนัด เช่น
แม่ พ่อ (ที.ปา.อ. 101/38)
2 วิสมโลภะ แปลว่า ความโลภจัด หมายถึงความโลภที่รุนแรงในฐานะแม้ที่ควรจะได้ (ที.ปา.อ. 101/38)
3 มิจฉาธรรม แปลว่า ความกำหนัดผิดธรรมชาติ หมายถึงความกำหนัดที่ชายมีต่อชาย และที่ผู้หญิงมีต่อ
ผู้หญิง (ที.ปา.อ. 101/38)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :72 }