เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [3. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น

เจริญต่อไปเหมือนเก่าก่อน เหมือนเมื่อกษัตริย์พระองค์ก่อน ๆ ซึ่งได้ทรงประพฤติ
จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐอยู่ พระเจ้าข้า ในแว่นแคว้นของพระองค์มีข้าราชการ
ข้าราชบริพาร โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์ องคมนตรี
อยู่พร้อมทีเดียว ข้าพระองค์ทั้งหลายและประชาราษฎร์เหล่าอื่น จดจำจักรวรรดิวัตร
อันประเสริฐได้อยู่ ขอพระองค์โปรดตรัสถามถึงจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐเถิด พระองค์
ตรัสถามแล้ว พวกข้าพระพุทธเจ้าก็จักกราบทูลจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐถวาย’

เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น

[91] ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอโปรดให้ประชุมข้าราชการ ข้าราช-
บริพาร โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์ องคมนตรี
ตรัสถามถึงจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ พวกเขาจึงกราบทูลจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ
แก่ท้าวเธอ ท้าวเธอได้ฟังคำทูลตอบของพวกเขาแล้ว จึงทรงจัดการรักษา ป้องกัน
และคุ้มครองโดยชอบธรรม แต่ไม่ได้พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ เมื่อไม่
พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนจึงแพร่หลาย เมื่อความขัดสน
แพร่หลาย บุรุษคนหนึ่งจึงถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย ประชาชน
ช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้วนำไปถวายแก่ท้าวเธอ กราบทูลว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละออง
ธุลีพระบาท บุรุษคนนี้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย’ เมื่อพวกเขา
กราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอจึงตรัสถามบุรุษนั้นว่า ‘ทราบว่า เธอถือเอาสิ่งของที่
ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมยจริงหรือ’
‘จริง พระเจ้าข้า’
‘เพราะเหตุไร’
‘เพราะข้าพระองค์ไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพ’
ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงพระราชทานทรัพย์ให้แก่เขาแล้วรับสั่งว่า ‘พ่อคุณ เธอจง
เลี้ยงชีพ จงเลี้ยงมารดาบิดา เลี้ยงบุตรภรรยา ประกอบการงานทั้งหลาย จงตั้งทักษิณา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :67 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [3. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น

ในสมณพราหมณ์ทั้งหลายที่ทำให้มีผลสูงขึ้นไป1ที่เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล
ให้เกิดในสวรรค์2ด้วยทรัพย์นี้เถิด’
เขาได้ทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว
แม้บุรุษอีกคนหนึ่ง ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย คนทั้งหลาย
ช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้วจึงนำไปถวายแก่ท้าวเธอ กราบทูลว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละออง
ธุลีพระบาท บุรุษนี้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย’ เมื่อพวกเขากราบ
ทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอจึงตรัสถามบุรุษนั้นว่า ‘พ่อคุณ ได้ยินว่า เธอถือเอาสิ่งของ
ที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมยจริงหรือ’
‘จริง พระเจ้าข้า’
‘เพราะเหตุไร’
‘เพราะข้าพระองค์ไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพ’
ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงพระราชทานทรัพย์ให้แก่เขาแล้วรับสั่งว่า ‘พ่อคุณ เธอ
จงเลี้ยงชีพ จงเลี้ยงมารดาบิดา จงเลี้ยงบุตรภรรยา จงประกอบการงานทั้งหลาย
จงตั้งทักษิณาในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ที่ทำให้มีผลสูงขึ้นไป เป็นไปเพื่อไห้ได้อารมณ์ดี
มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ด้วยทรัพย์นี้เถิด’
เขาทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว
[92] ภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายได้ฟังมาว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ทราบ
ว่า คนถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย พระเจ้าแผ่นดินยังพระราช-
ทานทรัพย์ให้อีก’ จึงพากันคิดเห็นอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ดี แม้พวกเราก็ควรถือเอาสิ่ง
ของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมยบ้าง’

เชิงอรรถ :
1 มีผลสูงขึ้นไป ในที่นี้หมายถึงส่งผลให้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นกามาวจร 6 คือ (1) จาตุมหาราช (2) ดาวดึงส์
(3) ยามา (4) ดุสิต (5) นิมมานรดี (6) ปรนิมมิตวสวัตดี (ที.ปา.ฏีกา 91/36)
2 ให้เกิดในสวรรค์ในที่นี้หมายถึงให้ได้คุณวิเศษที่ล้ำเลิศ 10 อย่าง มีผิวพรรณทิพย์ เป็นต้น (ที.ปา.อ. 91/37)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :68 }