เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [3. จักกวัตติสูตร] จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ

ด้วยว่า จักรแก้วอันเป็นทิพย์ หาใช่เป็นทรัพย์สมบัติที่เป็นมรดกสืบมาจากบิดาของ
เจ้าไม่ ขอให้ลูกประพฤติจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐเถิด ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้แล
คือ เมื่อลูกประพฤติจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ สนานพระเศียร ในวันอุโบสถ
15 ค่ำ รักษาอุโบสถ ประทับอยู่ชั้นบนปราสาทหลังงาม จักปรากฏจักรแก้วอันเป็น
ทิพย์ ซึ่งมีกำ 1,000 ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง’

จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ

[84] ‘จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐนั้น เป็นอย่างไร พระเจ้าข้า’
‘ลูกเอ๋ย ถ้าเช่นนั้น ลูกจงอาศัยธรรม1เท่านั้น สักการะธรรม เคารพธรรม
นับถือธรรม บูชาธรรม นอบน้อมธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นยอด มีธรรม
เป็นใหญ่ จงจัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองชนภายใน2 กำลังพล พวกกษัตริย์ผู้
ตามเสด็จ พราหมณ์และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท สมณพราหมณ์ สัตว์
จำพวกเนื้อและนกโดยธรรม การกระทำสิ่งที่ผิดแบบแผน อย่าได้เป็นไปในแว่นแคว้น
ของลูก อนึ่ง บุคคลเหล่าใดในแว่นแคว้นของลูก ไม่มีทรัพย์ ลูกพึงให้ทรัพย์แก่บุคคล
เหล่านั้นด้วย อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดในแว่นแคว้นของลูก เว้นขาดจากความ
มัวเมา และความประมาท3 ตั้งมั่นอยู่ในขันติ(ความอดทน)และโสรัจจะ(ความเสงี่ยม)
ฝึกตน สงบตน ให้ตนดับกิเลสอยู่แต่ผู้เดียว ลูกพึงเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น
ตามกาลอันควรแล้วไต่ถามสอบถามว่า ‘ท่านขอรับ อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล
อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเกี่ยวข้อง อะไรไม่ควรเกี่ยวข้อง อะไรที่ข้าพเจ้า
ทำอยู่พึงเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน หรือว่าอะไรที่ข้าพเจ้าทำอยู่

เชิงอรรถ :
1 ธรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ 10 ประการ คือ (1) เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ (2) เว้นขาดจากการ
ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ (3) เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม (4) เว้นขาดจากการพูดเท็จ
(5) เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด (6) เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ (7) เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ
(8) ความไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา (9) ความมีจิตไม่พยาบาท (10) ความเห็นชอบ (ที.ปา.อ. 84/34)
2 ชนภายใน ในที่นี้หมายถึงพระมเหสี พระราชโอรส และพระราชธิดา (องฺ.ติก.อ. 2/14/88)
3 ความประมาท ในที่นี้หมายถึงความมีจิตหมกมุ่นในกามคุณ 5 (ที.ปา.อ. 84/35)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :62 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [3. จักกวัตติสูตร] การปรากฏของจักรแก้ว

พึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน’ ครั้นลูกได้ฟังจากสมณพราหมณ์เหล่า
นั้นแล้ว สิ่งใดเป็นอกุศล พึงละเว้นสิ่งนั้น สิ่งใดเป็นกุศล พึงยึดถือประพฤติสิ่งนั้น
ให้มั่น ลูกเอ๋ย จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐนั้น เป็นอย่างนี้แล’

การปรากฏของจักรแก้ว

[85] ภิกษุทั้งหลาย กษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วรับสนองพระดำรัส
ของพระราชฤๅษีแล้ว ทรงประพฤติจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ เมื่อท้าวเธอทรง
ประพฤติจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐอยู่ สนานพระเศียร ในวันอุโบสถ 15 ค่ำ รักษา
อุโบสถ ประทับอยู่ชั้นบนปราสาทหลังงาม ปรากฏจักรแก้วอันเป็นทิพย์ ซึ่งมี
กำ 1,000 ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง เมื่อกษัตราธิราชผู้ได้รับ
มูรธาภิเษกแล้ว ทอดพระเนตรแล้วทรงดำริว่า ‘เราได้ฟังเรื่องนี้มาว่า ‘กษัตราธิราช
พระองค์ใด ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ทรงสนานพระเศียร ในวันอุโบสถ 15 ค่ำ
รักษาอุโบสถ ประทับอยู่ชั้นบนปราสาทหลังงาม จักปรากฏจักรแก้วอันเป็นทิพย์
ซึ่งมีกำ 1,000 ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง กษัตราธิราช
พระองค์นั้นย่อมเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ’ เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิกระมัง’
ลำดับนั้น ท้าวเธอทรงลุกจากที่ประทับ ทรงพระภูษาเฉวียงบ่า พระหัตถ์ซ้าย
ทรงจับพระเต้าทอง พระหัตถ์ขวาทรงชูจักรแก้วขึ้นตรัสว่า ‘จักรแก้วอันประเสริฐ
จงหมุนไป จงได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่’ ทันใดนั้น จักรแก้วหมุนไปทางทิศตะวันออก
ท้าวเธอพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา1 ได้เสด็จตามไป เสด็จเข้าพักแรมพร้อมด้วย
จตุรงคินีเสนาในประเทศที่จักรแก้วอันเป็นทิพย์หยุดอยู่
พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออก พากันเสด็จมาเฝ้าแล้วกราบทูล
อย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า พระองค์โปรดเสด็จมาเถิด ขอรับเสด็จพระองค์
ราชสมบัติของหม่อมฉันเป็นของพระองค์ โปรดประทานพระราโชวาทเถิด พระเจ้าข้า’

เชิงอรรถ :
1 จตุรงคินีเสนา หมายถึงกองทัพที่มีกำลัง 4 คือ พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า (สํ.ส.อ.
1/125/146)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :63 }