เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [3. จักกวัตติสูตร] เรื่องพระเจ้าจักรพรรดิทัฬหเนมิ

ลำดับนั้น ท้าวเธอรับสั่งเรียกพระกุมาร ผู้เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่มาตรัสว่า
‘ลูกเอ๋ย ทราบว่าจักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพ่อถอยเคลื่อนจากที่ตั้งแล้ว ก็พ่อได้ยิน
มาว่า ‘จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์ใดถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง
ณ บัดนี้ พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์นั้น จะทรงพระชนม์อยู่ได้ไม่นาน’ กามทั้งหลาย
อันเป็นของมนุษย์พ่อก็ได้บริโภคแล้ว บัดนี้เป็นเวลาที่พ่อจะแสวงหากามทั้งหลาย
อันเป็นทิพย์ มาเถิด ลูกเอ๋ย ลูกจงปกครองแผ่นดิน อันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขตนี้
ส่วนพ่อจะโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต1’
[83] ภิกษุทั้งหลาย ครั้นพระเจ้าทัฬหเนมิทรงสั่งสอนพระกุมารผู้เป็นพระ
ราชโอรสองค์ใหญ่ในเรื่องการครองราชย์เรียบร้อยแล้ว ทรงโกนพระเกศาและพระมัสสุ
ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต เมื่อพระราชฤๅษี
ผนวชได้ 7 วัน จักรแก้วอันเป็นทิพย์ได้อันตรธานไป
ครั้งนั้น ราชบุรุษคนหนึ่งเข้าไปเฝ้ากษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษก2 แล้ว ถึงที่
ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอพระองค์
ทรงทราบเถิด จักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว’ ขณะนั้น เมื่อจักรแก้วอัน
เป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว ท้าวเธอทรงเสียพระทัย ทรงแสดงความเสียพระทัยให้
ปรากฏ จึงเสด็จเข้าไปหาพระราชฤๅษีถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ
ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระองค์ทรงทราบเถิด จักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไป
แล้ว’ เมื่อท้าวเธอกราบทูลอย่างนี้ พระราชฤๅษีจึงตรัสว่า ‘ลูก เมื่อจักรแก้วอัน
เป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว เจ้าอย่าเสียใจและอย่าแสดงความเสียใจให้ปรากฏเลย

เชิงอรรถ :
1 บวชเป็นบรรพชิต ในที่นี้หมายถึงบวชเป็นดาบส ซึ่งต้องโกนผมและหนวดเป็นพิธีการแรก หลังจากบวช
แล้วเมื่อผมงอกขึ้นมาใหม่ ก็จะใช้วิธีมุ่นผมเป็นชฎา แล้วเที่ยวไป การบวชในสมัยแรกใช้ผ้ากาสาวพัสตร์
(ผ้าที่ย้อมน้ำฝาด) ในสมัยต่อมาใช้ผ้าเปลือกไม้ก็มี (ที.ปา.อ. 82/33)
2 มูรธาภิเษก หมายถึงพิธีหลั่งน้ำรดพระเศียรในงานราชาภิเษก หรือพระราชพิธีอื่น ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :61 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [3. จักกวัตติสูตร] จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ

ด้วยว่า จักรแก้วอันเป็นทิพย์ หาใช่เป็นทรัพย์สมบัติที่เป็นมรดกสืบมาจากบิดาของ
เจ้าไม่ ขอให้ลูกประพฤติจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐเถิด ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้แล
คือ เมื่อลูกประพฤติจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ สนานพระเศียร ในวันอุโบสถ
15 ค่ำ รักษาอุโบสถ ประทับอยู่ชั้นบนปราสาทหลังงาม จักปรากฏจักรแก้วอันเป็น
ทิพย์ ซึ่งมีกำ 1,000 ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง’

จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ

[84] ‘จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐนั้น เป็นอย่างไร พระเจ้าข้า’
‘ลูกเอ๋ย ถ้าเช่นนั้น ลูกจงอาศัยธรรม1เท่านั้น สักการะธรรม เคารพธรรม
นับถือธรรม บูชาธรรม นอบน้อมธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นยอด มีธรรม
เป็นใหญ่ จงจัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองชนภายใน2 กำลังพล พวกกษัตริย์ผู้
ตามเสด็จ พราหมณ์และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท สมณพราหมณ์ สัตว์
จำพวกเนื้อและนกโดยธรรม การกระทำสิ่งที่ผิดแบบแผน อย่าได้เป็นไปในแว่นแคว้น
ของลูก อนึ่ง บุคคลเหล่าใดในแว่นแคว้นของลูก ไม่มีทรัพย์ ลูกพึงให้ทรัพย์แก่บุคคล
เหล่านั้นด้วย อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดในแว่นแคว้นของลูก เว้นขาดจากความ
มัวเมา และความประมาท3 ตั้งมั่นอยู่ในขันติ(ความอดทน)และโสรัจจะ(ความเสงี่ยม)
ฝึกตน สงบตน ให้ตนดับกิเลสอยู่แต่ผู้เดียว ลูกพึงเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น
ตามกาลอันควรแล้วไต่ถามสอบถามว่า ‘ท่านขอรับ อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล
อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเกี่ยวข้อง อะไรไม่ควรเกี่ยวข้อง อะไรที่ข้าพเจ้า
ทำอยู่พึงเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน หรือว่าอะไรที่ข้าพเจ้าทำอยู่

เชิงอรรถ :
1 ธรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ 10 ประการ คือ (1) เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ (2) เว้นขาดจากการ
ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ (3) เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม (4) เว้นขาดจากการพูดเท็จ
(5) เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด (6) เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ (7) เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ
(8) ความไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา (9) ความมีจิตไม่พยาบาท (10) ความเห็นชอบ (ที.ปา.อ. 84/34)
2 ชนภายใน ในที่นี้หมายถึงพระมเหสี พระราชโอรส และพระราชธิดา (องฺ.ติก.อ. 2/14/88)
3 ความประมาท ในที่นี้หมายถึงความมีจิตหมกมุ่นในกามคุณ 5 (ที.ปา.อ. 84/35)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :62 }