เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [3. จักกวัตติสูตร] เรื่องพระเจ้าจักรพรรดิทัฬหเนมิ

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงประพฤติธรรมอันเป็นโคจร1 ซึ่งเป็นวิสัยอัน
สืบเนื่องมาจากบิดาของตน เมื่อเธอทั้งหลายประพฤติธรรมอันเป็นโคจรซึ่งเป็นวิสัย
อันสืบเนื่องมาจากบิดาของตน มารจะไม่ได้โอกาส จะไม่ได้อารมณ์ ภิกษุทั้งหลาย
บุญนี้ย่อมเจริญขึ้นได้อย่างนี้ เพราะการสมาทานกุศลธรรมเป็นเหตุ

เรื่องพระเจ้าจักรพรรดิทัฬหเนมิ

[81] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่า
ทัฬหเนมิ ผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้งสี่
เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว 7 ประการ
ได้แก่ (1) จักรแก้ว (2) ช้างแก้ว (3) ม้าแก้ว (4) มณีแก้ว (5) นางแก้ว
(6) คหบดีแก้ว (7) ปริณายกแก้ว มีพระราชโอรสมากกว่า 1,000 องค์ ซึ่ง
ล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรง
ชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินนี้มีสาครเป็น
ขอบเขต
[82] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น เมื่อเวลาล่วงไปหลายปี หลายร้อยปี หลาย
พันปี พระเจ้าทัฬหเนมิรับสั่งเรียกราชบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า ‘บุรุษผู้เจริญ ในขณะที่
ท่านเห็นจักรแก้วอันเป็นทิพย์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง พึงบอกแก่เราทันที’ ราชบุรุษนั้น
ทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว เมื่อเวลาล่วงไปอีกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี
ราชบุรุษนั้นได้เห็นจักรแก้วอันเป็นทิพย์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง จึงเข้าไปเฝ้าท้าวเธอถึง
ที่ประทับ แล้วได้กราบทูลพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าทัฬหเนมิดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ
ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอพระองค์ทรงทราบเถิด จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของ
พระองค์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้งแล้ว’

เชิงอรรถ :
1 ธรรมอันเป็นโคจร ในที่นี้หมายถึงธรรมที่เป็นอารมณ์กัมมัฏฐานของภิกษุ (ที.ปา.อ. 80/31, ที.ปา.ฏีกา
80/30)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :60 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [3. จักกวัตติสูตร] เรื่องพระเจ้าจักรพรรดิทัฬหเนมิ

ลำดับนั้น ท้าวเธอรับสั่งเรียกพระกุมาร ผู้เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่มาตรัสว่า
‘ลูกเอ๋ย ทราบว่าจักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพ่อถอยเคลื่อนจากที่ตั้งแล้ว ก็พ่อได้ยิน
มาว่า ‘จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์ใดถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง
ณ บัดนี้ พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์นั้น จะทรงพระชนม์อยู่ได้ไม่นาน’ กามทั้งหลาย
อันเป็นของมนุษย์พ่อก็ได้บริโภคแล้ว บัดนี้เป็นเวลาที่พ่อจะแสวงหากามทั้งหลาย
อันเป็นทิพย์ มาเถิด ลูกเอ๋ย ลูกจงปกครองแผ่นดิน อันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขตนี้
ส่วนพ่อจะโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต1’
[83] ภิกษุทั้งหลาย ครั้นพระเจ้าทัฬหเนมิทรงสั่งสอนพระกุมารผู้เป็นพระ
ราชโอรสองค์ใหญ่ในเรื่องการครองราชย์เรียบร้อยแล้ว ทรงโกนพระเกศาและพระมัสสุ
ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต เมื่อพระราชฤๅษี
ผนวชได้ 7 วัน จักรแก้วอันเป็นทิพย์ได้อันตรธานไป
ครั้งนั้น ราชบุรุษคนหนึ่งเข้าไปเฝ้ากษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษก2 แล้ว ถึงที่
ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอพระองค์
ทรงทราบเถิด จักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว’ ขณะนั้น เมื่อจักรแก้วอัน
เป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว ท้าวเธอทรงเสียพระทัย ทรงแสดงความเสียพระทัยให้
ปรากฏ จึงเสด็จเข้าไปหาพระราชฤๅษีถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ
ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระองค์ทรงทราบเถิด จักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไป
แล้ว’ เมื่อท้าวเธอกราบทูลอย่างนี้ พระราชฤๅษีจึงตรัสว่า ‘ลูก เมื่อจักรแก้วอัน
เป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว เจ้าอย่าเสียใจและอย่าแสดงความเสียใจให้ปรากฏเลย

เชิงอรรถ :
1 บวชเป็นบรรพชิต ในที่นี้หมายถึงบวชเป็นดาบส ซึ่งต้องโกนผมและหนวดเป็นพิธีการแรก หลังจากบวช
แล้วเมื่อผมงอกขึ้นมาใหม่ ก็จะใช้วิธีมุ่นผมเป็นชฎา แล้วเที่ยวไป การบวชในสมัยแรกใช้ผ้ากาสาวพัสตร์
(ผ้าที่ย้อมน้ำฝาด) ในสมัยต่อมาใช้ผ้าเปลือกไม้ก็มี (ที.ปา.อ. 82/33)
2 มูรธาภิเษก หมายถึงพิธีหลั่งน้ำรดพระเศียรในงานราชาภิเษก หรือพระราชพิธีอื่น ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :61 }