เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [1. ปาฎิกสูตร] เรื่องเจ้าลิจฉวีนามว่าสุนักขัตตะ

สุนักขัตตะ เธอเคยกล่าวสรรเสริญพระธรรมที่วัชชีคามด้วยเหตุผลหลายอย่าง
ว่า ‘พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วย
ตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล1 ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชน
พึงรู้เฉพาะตน’ สุนักขัตตะ เธอเคยกล่าวสรรเสริญพระธรรมที่วัชชีคามด้วยเหตุผล
หลายอย่าง อย่างนี้แล
สุนักขัตตะ เธอเคยกล่าวสรรเสริญพระสงฆ์ที่วัชชีคามด้วยเหตุผลหลายอย่าง
ว่า ‘พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกทาง
ปฏิบัติสมควร ได้แก่ อริยบุคคล 4 คู่ 8 บุคคล พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้
เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การ
ทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก สุนักขัตตะ เธอเคยกล่าวสรรเสริญ
พระสงฆ์ที่วัชชีคามด้วยเหตุผลหลายอย่าง อย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
5. ชื่อว่ารู้แจ้งโลก เพราะทรงรู้แจ้งโลก เหตุเกิดโลก ความดับโลก วิธีปฏิบัติให้ลุถึงความดับโลก
(ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) และทรงรู้แจ้งโลกทั้ง 3 คือ สังขารโลก สัตวโลก โอกาสโลก
6. ชื่อว่าสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะทรงฝึกฝนคนที่ควรฝึกฝน ทั้งเทวดา มนุษย์
อมนุษย์ สัตว์ดิรัจฉาน ด้วยอุบายต่าง ๆ
7. ชื่อว่าเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะทรงสั่งสอนทั้งเทวดาและมนุษย์ด้วย
ประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า ผู้ปฏิบัติตามแล้วสำเร็จมรรคผลในโลกนี้บ้าง จุติไปเกิดในสวรรค์
กลับมาฟังธรรมแล้วสำเร็จมรรคผลบ้าง ทรงช่วยเหลือหมู่สัตว์ให้พ้นความกันดาร คือความเกิด
8. ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ทั้งหมดด้วยพระองค์เอง แล้วสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม
9. ชื่อว่าเป็นพระผู้มีพระภาคเพราะ(1)ทรงมีโชค(2)ทรงทำลายข้าศึกคือกิเลส(3)ทรงประกอบด้วย
ภคธรรม 6 ประการ (คือ ความเป็นใหญ่เหนือจิตของตน, โลกุตตรธรรม, ยศ, สิริ, ความสำเร็จประโยชน์
ตามต้องการ และความเพียร) (4) ทรงจำแนกแจกแจงธรรม (5) ทรงเสพอริยธรรม (6) ทรงคลายตัณหา
ในภพทั้ง 3 (7) ทรงเป็นที่เคารพของชาวโลก (8) ทรงอบรมพระองค์ดีแล้ว (9) ทรงมีส่วนแห่งปัจจัย 4
เป็นต้น (วิ.อ. 1/1/103-118)
อนึ่ง พระพุทธคุณนี้ ท่านแบ่งเป็น 10 ประการ โดยแยกข้อ 6 เป็น 2 ประการ คือ (1) เป็นผู้
ยอดเยี่ยม (2) เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้ (วิสุทฺธิ. 1/265, วิ.อ. 1/112-113)
1 ไม่ประกอบด้วยกาล หมายถึงให้ผลไม่จำกัดกาล คือไม่ขึ้นกับกาลเวลา ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติทุกเวลาทุกโอกาส
บรรลุเมื่อใดก็ได้รับผลเมื่อนั้น (องฺ.ติก.อ. 2/54/158)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :6 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [1. ปาฎิกสูตร]
เรื่องนักบวชเปลือยชื่อโกรักขัตติยะ

สุนักขัตตะ เราขอบอกเธอ เราขอเตือนเธอ จักมีผู้ด่าว่าเธอได้ว่า ‘สุนักขัตตะ
ลิจฉวีบุตร ไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมได้ เมื่อไม่สามารถ
ประพฤติได้ ได้บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์’ สุนักขัตตะ จักมีผู้ด่าว่าเธอ
อย่างนี้แล ภัคควะ สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร เมื่อถูกเราว่ากล่าวอย่างนี้ ได้หนีไปจาก
ธรรมวินัยนี้แล้ว เหมือนผู้ควรเกิดในอบายกลับไปตกนรก ฉะนั้น

เรื่องนักบวชเปลือยชื่อโกรักขัตติยะ

[7] ภัคควะ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่นิคมของชาวถูลู ชื่ออุตตรกา ในชุมชนชาวถูลู
ครั้นในเวลาเช้า เราครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร มีสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร เป็น
ปัจฉาสมณะ1 เข้าไปยังอุตตรกานิคมเพื่อบิณฑบาต สมัยนั้น มีนักบวชเปลือย
ชื่อโกรักขัตติยะ ประพฤติอย่างสุนัข คือ คลานไปด้วยข้อศอกและเข่ากินอาหาร
ที่กองบนพื้นดินด้วยปาก สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ได้เห็นเขาแล้ว จึงได้มีความคิด
ดังนี้ว่า ‘สมณะคลานไปด้วยข้อศอกและเข่า กินอาหารที่กองบนพื้นดินด้วยปาก
เป็นพระอรหันต์ชั้นดี’
ครั้งนั้น เราได้รู้ความรำพึงของสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ด้วยใจ จึงกล่าวกับ
สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ว่า ‘โมฆบุรุษ แม้คนเช่นเธอก็ยังปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ
ศากยบุตรอยู่หรือ’
เขาได้กล่าวว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฉนพระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียก
ข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ‘โมฆบุรุษ แม้คนเช่นเธอก็ยังปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะศากย-
บุตรอยู่หรือ’
‘สุนักขัตตะ เธอได้เห็นนักบวชเปลือยโกรักขัตติยะนี้ ผู้ประพฤติอย่างสุนัข
คลานไปด้วยข้อศอกและเข่า กินอาหารที่กองบนพื้นดินด้วยปากแล้ว ได้มีความคิด

เชิงอรรถ :
1 ปัจฉาสมณะ หมายถึงพระติดตาม คือ คอยติดตามรับใช้ (ขุ.อุ.อ. 77/452)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :7 }