เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [2. อุทุมพริกสูตร]
เรื่องการถึงความบริสุทธิ์ที่ถึงยอดและถึงแก่น

สังวัฏฏกัป1เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัป2เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัป
และวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ
มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้น ก็ไปเกิดในภพโน้น
แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์
และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้น จึงมาเกิดในภพนี้’ เขาระลึกชาติก่อนได้
หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
นิโครธ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วย
ตบะ เป็นลัทธิที่บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วยตบะ เป็นลัทธิ
ที่บริสุทธิ์แน่นอน ไม่ใช่ไม่บริสุทธิ์ เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่น”
“นิโครธ การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นลัทธิที่ยังไม่ถึงยอด
และถึงแก่น ที่แท้ เป็นลัทธิที่ถึงเพียงกระพี้เท่านั้น”

เรื่องการถึงความบริสุทธิ์ที่ถึงยอดและถึงแก่น

[73] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร
เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่น ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงให้
ข้าพระองค์ถึงยอดและถึงแก่นแห่งการกีดกันบาปด้วยตบะเถิด”

เชิงอรรถ :
1 คำว่า สังวัฏฏะ แปลว่า ความเสื่อม ความพินาศ และคำว่า กัป แปลว่า กาลกำหนด ช่วงระยะเวลายาว
นานเหลือเกินที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักรวาลประลัยครั้งหนึ่ง ดังนั้น คำว่า สังวัฏฏกัป หมายถึงช่วงระยะ
เวลาที่โลกเสื่อม มี 3 อย่าง คือ (1) อาโปสังวัฏฏกัป (กัปที่เสื่อมเพราะน้ำ) หมายถึงกัปที่เสื่อมเพราะ
น้ำท่วมนับแต่ชั้นสุภกิณหพรหมลงมา (2) เตโชสังวัฏฏกัป (กัปที่เสื่อมเพราะไฟ) หมายถึงกัปที่ไฟไหม้
นับแต่ชั้นอาภัสสรพรหมลงมา (3) วาโยสังวัฏฏกัป (กัปที่เสื่อมเพราะลม) หมายถึงกัปที่ลมพัดทำลาย
นับแต่ชั้นเวหัปผลพรหมลงมา หรือหมายถึงช่วงระยะเวลาที่เปลวไฟดับจนถึงมหาเมฆที่ให้กัปพินาศ
(องฺ.จตุกฺก.อ. 2/156/384, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา 2/156-158/421, วิสุทฺธิ. 2/406/55)
2 วิวัฏฏกัป หมายถึงช่วงระยะเวลาที่โลกเจริญหรือหมายถึงช่วงระยะเวลาที่ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เกิดจน
ถึงมีมหาเมฆบริบูรณ์ (องฺ.จตุกฺก.ฏีกา 2/156-158/421, วิสุทฺธิ. 2/406/55)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :51 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [2. อุทุมพริกสูตร]
เรื่องการถึงความบริสุทธิ์ที่ถึงยอดและถึงแก่น

“นิโครธ บุคคลผู้บำเพ็ญตบะในโลกนี้ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร 4 ประการ
บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร 4 ประการ เป็นอย่างไร
คือ ฯลฯ
นิโครธ การที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ จะเป็นผู้สำรวมด้วยสังวร 4 ประการได้
ก็เพราะเขามีสิ่งที่กำลังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ โดยความเป็นผู้บำเพ็ญตบะ เขารักษา
ศีลให้ยิ่ง ไม่กลับมาเป็นคฤหัสถ์ พักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด ฯลฯ
เขาละนิวรณ์ 5 ประการนี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองจิต ทอนกำลังปัญญา
มีเมตตาจิต ฯลฯ
มีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ 1 ... ทิศที่ 2 ... ทิศที่ 3 ... ทิศที่ 4 ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่
เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ 1 ชาติบ้าง 2 ชาติบ้าง 3 ชาติบ้าง
4 ชาติบ้าง 5 ชาติบ้าง ฯลฯ เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะ
ทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
เขาเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม
เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
เขารู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ผู้เจริญเหล่านี้ที่ประกอบ
กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และ
ชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด พวกเขาหลังจากตายแล้ว จะไปเกิดใน
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์เหล่านี้ ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต
และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรม
ตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เขาเห็น
หมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี
ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม อย่างนี้แล
นิโครธ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วย
ตบะ เป็นลัทธิที่บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :52 }